โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยโรคอ้วนกำลังรุมเร้าประชาชนทั่วโลกอย่างหนัก ทำให้อายุสั้นลง โดยปัญหาเพิ่มรวดเร็วมากในกลุ่มเด็ก 2-3 เท่าตัว ในรอบ 20 ปี ชี้สถานการณ์ในไทยน่าห่วง ในรอบ 5 ปี เด็กไทยวัยต่ำกว่า 6 ขวบอ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ต้นเหตุสำคัญมาจากการกระทำของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะค่านิยมเด็ก จ้ำหม้ำ
นายสง่า ดามาพงษ์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้จัดการแผนงานโภชนาการเชิงรุก ของกรมอนามัย และ สสส. เปิดเผยว่า ขณะนี้โรคอ้วนกำลังเป็นภัยคุกคามคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วโลก โดยเฉพาะโรคอ้วนในเด็ก องค์การอนามัยโลกรายงานว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก 2-3 เท่าตัวในรอบ 20 ปีมานี้ ผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความวิตกกังวล และเป็นห่วง เพราะหากปล่อยสถานการณ์ไปเรื่อยๆ จะทำให้ประชากรโลกอายุสั้นลงเรื่อยๆ เนื่องจากความอ้วนเป็นผลร้ายต่อร่างกายหลายด้าน และเป็นตัวชักนำโรคภัยต่างๆมาเยือน ที่สำคัญคือโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทย พบว่าในรอบ 5 ปีมานี้ เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 หากปล่อยสถานการณ์ไปเรื่อยๆ คาดอีก 10 ปีข้างหน้าเด็กไทยวัยก่อนเรียน 1 ใน 5 คนจะเป็นเด็กอ้วน ส่วนกลุ่มเด็กวัยเรียน 1 ใน 10 จะเป็นโรคอ้วนเช่นกัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ เพราะผลกระทบอันรุนแรงต่อโรคอ้วนในเด็ก คือ โรคทางเดินหายใจอุดตัน และหยุดหายใจขณะหลับ โรคกระดูกข้อเสื่อม โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และก่อให้เกิดปัญหาด้านจิตใจ สังคมและด้านการเรียนรู้ ส่วนผลกระทบในระยะยาวคือ 1 ใน 3 ของเด็กก่อนวัยเรียนที่อ้วน เมื่อโตขึ้น ก็จะเป็นผู้ใหญ่อ้วน และโรคอ้วนในผู้ใหญ่มีผลต่อการเกิดโรคเรื้อรังที่รุนแรงนำไปสู่การสูญเสียชีวิตเร็วขึ้น โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด จะพบคนไทยตายจากโรคนี้วันละ 120 คน หรือตายชั่วโมงละ 5 คน
โฆษก สธ. กล่าวต่อไปว่า โรคอ้วนในเด็กส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของผู้ใหญ่ที่ฟูมฟักเลี้ยงดูแบบผิดๆ อาจกล่าวได้ว่าเป็นโรคผู้ใหญ่ทำ เริ่มตั้งแต่การมีค่านิยมที่ผิดที่คิดว่า เด็กอ้วนคือเด็กสมบูรณ์ จ้ำหม้ำ น่ารัก น่าฟัด และบ่งบอกถึงพ่อแม่เลี้ยงดี จึงต้องเร่งการปรับเปลี่ยนค่านิยมเสียใหม่ และหันมาร่วมกันป้องกันไม่ให้เด็กอ้วน โดยต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา แม่จะต้องใส่ใจการกินอาหารให้เหมาะสมได้สัดส่วน หลีกเลี่ยงหวาน มัน เค็ม
จากทฤษฎีของบาเกอร์ได้ค้นพบว่า ถ้าแม่ขาดอาหารในขณะตั้งครรภ์ ลูกที่คลอดออกมาจะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ คือต่ำกว่า 2,500 กรัม โดยเมื่อเด็กโตขึ้นจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน และโรคเรื้อรังต่างๆ มากมายซึ่งนับว่าแม่เป็นคนทำให้ลูกอ้วน และเมื่อคลอดออกมาเป็นทารกแทนที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กลับนำนมผสมมาให้ลูกกิน โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคอ้วนจึงมีมากขึ้น พออายุเข้าเดือนที่ 6-7 แทนที่จะได้กินอาหารธรรมชาติจากข้าวบด ไข่ ปลา ผัก กล้วย กลับให้ลูกกินอาหารเสริมกึ่งสำเร็จรูป ทำให้ลูกไม่ได้โอกาสกินผักจึงเป็นเหตุผลที่เด็กไทยรุ่นใหม่ไม่กินผัก เพราะไม่ได้รับการฝึกและปลูกฝังการกินผักมาตั้งแต่เด็ก พฤติกรรมการให้ลูกกินนมผสมเป็นอาหารหลักจนถึงอายุ 1-2 ขวบ โดยกินอาหารหลักน้อยกว่าจนกระทั่งให้ลูกกินขนม น้ำอัดลมเป็นประจำนั้น ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กอ้วน ซึ่งเกิดจากการกระทำของผู้ใหญ่ทั้งสิ้น นายสง่ากล่าว
นายสง่า กล่าวต่อไปว่า การปล่อยให้ลูกติดเกมส์คอมพิวเตอร์ ดูโทรทัศน์ โดยไม่มีเวลาใส่ใจหากิจกรรมออกกำลังกาย เล่นกีฬา และการช่วยงานบ้านเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวร่างกาย ก็เป็นส่วนที่ทำให้เด็กอ้วน เพราะจากการสำรวจเด็กไทยเมื่อเร็วๆนี้ พบว่าเด็กไทยใช้เวลาถึง 1 ใน 5 ของเวลาว่างที่นอกเหนือจากการนอน การเรียน ไปดูโทรทัศน์พร้อมๆกับกินขนมขบเคี้ยว
เด็กคือผ้าขาวบริสุทธิ์ เขาพร้อมที่จะเป็นผ้าขาวตลอดชีวิต แต่การที่ผู้ใหญ่ให้เด็กกินอาหารที่ล้นเกิน และไม่เปิดโอกาสหรือฝึกให้ออกกำลังกาย ก็คือสีดำที่ผู้ใหญ่นำไปเปื้อนสีขาวของชีวิตเด็กทำให้เด็กอ้วน จึงสรุปว่า โรคอ้วนในเด็กเป็นโรคผู้ใหญ่ทำ นายสง่า กล่าวในที่สุด
มกราคม3/5-6 *********************************************** 13 มกราคม 2550
View 8
13/01/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ