รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งตั้งศูนย์วอร์รูม รับมือไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ พร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง หากมีการระบาด โดยตั้งศูนย์ฯประสานงานที่กรมควบคุมโรค และเตรียมซักซ้อมแผนระดับกระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ทุกรดับ หากมีการระบาดใหญ่ ในช่วงมกราคม - กุมภาพันธ์นี้ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลกขณะนี้ จึงมีความเสี่ยงสูงที่เชื้อไวรัสอาจมีการกลายพันธุ์ และระบาดรุนแรง จากการติดตามสถานการณ์ทั่วโลก ตั้งแต่ต้นปี 2549 – ธันวาคม 2549 พบรายงานสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก ใน 57 ประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา และมีรายงานผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนกในคนจาก 9 ประเทศ รวม 111 ราย เสียชีวิต 76 ราย ล่าสุดมีการระบาดของสัตว์ปีกในเกาหลีใต้ เวียดนาม และมีผู้ป่วยรายใหม่ในอียิปต์ อินโดนีเซียและจีน จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าการระบาดของไข้หวัดนกจะยังขยายตัว และเป็นภัยคุกคามจนอาจเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ในอนาคตได้ นายแพทย์ มงคล กล่าวต่อไปว่า แม้ไทยจะไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกมากว่า 4 เดือนก็ตาม แต่เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมการรับมือหากมีการระบาด จึงได้สั่งการให้ตั้งวอร์รูม (War room) หรือศูนย์รับมือโรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่รวมทั้งโรคติดต่ออุบัติใหม่ ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง โดยมอบให้นายแพทย์สมยศ เจริญศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้อำนวยการศูนย์ เพื่อวางแผนประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ให้คำปรึกษา สามารถติดต่อได้ที่โทรศัพท์ 02-590-3333 และให้ทุกจังหวัดรายงานผู้ต้องสงสัย/ผู้ป่วยให้กระทรวงฯทราบทุกวัน แม้ไม่มีผู้ป่วยที่มีอาการผู้สงสัยหรืออยู่ในข่ายก็ตาม ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการเตรียมการซ้อมแผนสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ คาดจะมีการซ้อมในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยขณะนี้ประเทศไทยได้ประชุมเตรียมแผนรับมือการระบาดของโรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่บนโต้ะครอบคลุมทุกด้าน ร่วมกับองค์การอนามัยโลกประจำภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้วเมื่อปลายปี 2549 และต่อไปจะซักซ้อมจริงตามแผนที่กำหนด โดยประเทศไทยเป็นต้นแบบการซ้อมแผนระดับจังหวัด และขยายระดับการซ้อมในวงกว้างขึ้น ส่วนองค์การอนามัยโลก จะร่วมมือกับกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ในการจัดซ้อมแผนในระดับภูมิภาคต่อไป นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก ได้มอบให้ทุกจังหวัดเร่งรัดมาตรการเฝ้าระวังโรคที่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดนก 3 โรค ได้แก่ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวมหรือปอดอักเสบ และไข้เลือดออกอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถตรวจจับโรคไข้หวัดนก รักษาได้แต่เนิ่นๆ และควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว จะลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ มาตรการสำคัญคือ ให้อสม.ติดตามสัตว์ปีกป่วยตายในหมู่บ้าน และเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีอย่างใกล้ชิด หากพบใครมีไข้ ไอ มีน้ำมูกและมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกทุกชนิด หรือเล่นบริเวณที่มีสัตว์ปีกป่วยและตาย ให้รีบพาไปพบแพทย์และรายงานให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยทราบทันที เพื่อฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด จากการเฝ้าระวังผู้ป่วย ตั้งแต่วันที่ 1-14 มกราคม 2550 จำนวน 22 ราย ยังไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกในคนเพิ่มแต่อย่างใด มกราคม4/5 ********************************* 15 มกราคม 2550


   
   


View 3       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ