กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดโครงการรณรงค์ส่งเสริมนักเรียน ป.5 และ ป.6 อ่านฉลากโภชนาการ ก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อป้องกัน 3 โรคร้ายเรื้อรัง นำร่อง 41 โรงเรียนทั่วไทย หลังวิจัยพบประชาชนในกทม.ร้อยละ 40 สนใจอ่านฉลากเฉพาะวันหมดอายุเท่านั้น แต่ไม่เข้าใจเรื่องสารอาหารที่ระบุในฉลาก เช้าวันนี้ (18 มกราคม 2550) นายสง่า ดามาพงษ์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้จัดการแผนงานโภชนาการเชิงรุก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยระหว่างพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการรณรงค์ให้เด็กนักเรียนอ่านฉลากอาหารก่อนซื้อ ที่โรงเรียนวัดช่องลม กทม. ว่า ขณะนี้พบประชาชนไทย นิยมอาหารสำเร็จรูป และมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะการบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาหารที่มีไขมัน และน้ำตาลในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งเป็นอาหารให้พลังงานสูงเกินความต้องการที่ร่างกายใช้งาน รวมทั้งยังกินเค็มจัดมากขึ้น แต่กลับบริโภคอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวและธัญพืชต่างๆ รวมทั้งอาหารประเภทผัก ผลไม้ ที่มีเส้นใยน้อยลง ทำให้เกิดปัญหาการทำลายสุขภาพ เจ็บป่วยแบบเรื้อรังหลายโรค รวมทั้งโรคฟันผุ ทำให้เกิดการสูญเสียเศรษฐกิจตามมาอย่างมาก ทั้งนี้ ฉลากโภชนาการที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์อาหารต่างๆ ซึ่งระบุเป็นภาษาไทยทั้งหมด นับเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเรียนรู้ และนำมาใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพตัวเองได้ดียิ่งขึ้น แต่จากผลการสำรวจผู้บริโภคกรุงเทพมหานครหลายอาชีพ โดยรองศาสตราจารย์ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ล่าสุดปี 2548 พบว่า ประชาชนร้อยละ 40 ยังไม่เข้าใจความหมายของข้อมูลปริมาณสารอาหารที่ระบุอยู่บนฉลาก ส่วนใหญ่จะอ่านฉลาก ดูเฉพาะวันหมดอายุเท่านั้น มีเพียงกลุ่มอาชีพด้านสาธารณสุขเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น ที่มักอ่านฉลากโภชนาการ นอกจากนี้ ยังพบว่าขนมและอาหารว่างสำเร็จรูปที่วางขายในท้องตลาด ร้อยละ 78 ยังไม่มีฉลากโภชนาการระบุด้วย นายสง่ากล่าวต่อไปว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้ร่วมกับสสส. และกลุ่มภาคีเครือข่ายโภชนาการเชิงรุก ดำเนินงานรณรงค์การอ่านฉลากก่อนซื้อในโรงเรียน 41 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาค ภาคละ 10 แห่ง และในกทม.ปริมณฑลอีก 11 แห่ง เริ่มตั้งแต่กลางปี 2549 เป็นต้นมา โดยดำเนินการสร้างแกนนำในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ซึ่งเป็นวัยที่มีการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพง่ายที่สุด ด้วยวิธีจัดอบรม ส่งเสริมรณรงค์ให้เด็กนักเรียนแห่งละประมาณ 50 คน มีพฤติกรรมการอ่านฉลากโภชนาการอย่างถูกต้องก่อนตัดสินใจซื้อ ว่ามีสารอาหารใดบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อให้เด็กเกิดความตระหนัก คิดเอง ทำเอง และเป็นแกนนำ หาวิธีสอนน้องให้อ่านฉลากโภชนาการให้ได้ จากการประเมินผลเบื้องต้น 6 เดือนแรก พบว่านักเรียนแกนนำสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับเพื่อนนักเรียนในทุกระดับชั้น รวมทั้งสมาชิกภายในครอบครัว ซึ่งจัดว่าเป็นต้นแบบที่ดีให้กับโรงเรียนอื่นๆ ที่จะช่วยลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทางโภชนาการ โดยเฉพาะโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ได้ตั้งแต่เด็กเป็นอย่างดี โดยจะประเมินครั้งที่ 2 ในปลายปีนี้ และจะขยายผลสู่โรงเรียนอื่นๆ หากโรงเรียนใดสนใจ สมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 02-8893947 โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าว ******************** 18 มกราคม 2550


   
   


View 10    18/01/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ