สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ เตือนภัย
ยาอีโฉมใหม่รูปอาร์ตทอย ออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง ยิ่งเสพพร้อมกับ
ยาเสพติดชนิดอื่นๆ และร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์จะยิ่งเสริมฤทธิ์ กดการหายใจ ระบบหัวใจล้มเหลวและถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากกรณีข่าวการตรวจยึดยาอีรูปแบบใหม่ลักษณะเป็นเม็ดรูปอาร์ตทอย ในสถานบันเทิง พื้นที่ภาคเหนือ ซึ่ง ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี (Ecstasy) เป็นยาเสพติด
ตัวเดียวกัน มีทั้งแบบแคปซูลและเม็ดยาสีต่าง ๆ แพร่ระบาดในกลุ่มนักเที่ยวกลางคืน เมื่อเสพยาอีเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์ภายใน 45 นาที และฤทธิ์ของยาจะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6-8 ชั่วโมง โดยจะออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทในระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นจะหลอนประสาทอย่างรุนแรง ผู้เสพจะรู้สึกร้อน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การได้ยินเสียง และการมองเห็นแสงสีต่าง ๆ ผิดไปจากความเป็นจริงเคลิบเคลิ้ม รู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ อาจเป็นสาเหตุของการถูกคุกคามทางเพศ นอกจากนี้ยังทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผล
ให้ผู้เสพมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย
ทั้งนี้หากมีการเสพพร้อมกับยาเสพติดชนิดอื่นๆ และร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์
จะยิ่งเสริมฤทธิ์ อาจทำให้กดการหายใจระบบหัวใจล้มเหลวและถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ
บรมราชชนนี (สบยช.)
กล่าวเพิ่มเติมว่า ยาอีนอกจากจะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแล้ว ยังเข้าไปทำลาย
ระบบประสาททำให้เซลล์สมองส่วนที่ทำหน้าที่หลั่งสารซีโรโทนิน
(Serotonin) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอารมณ์ทำงานผิดปกติ โดยจะหลั่งสารนี้ออกมามากกว่าปกติทำให้สดชื่น อารมณ์ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้เสพจะเข้าสู่สภาวะของอารมณ์ที่เศร้าหมอง หดหู่ มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ เตือนกลุ่มวัยรุ่นและนักเที่ยวในสถานบันเทิง ที่นิยมใช้สารเสพติดเพื่อต้องการให้เกิดอาการมึนเมาและสนุกสนานมากขึ้นให้ตระหนักถึงอันตรายที่จะตามมา ร้ายแรงที่สุดอาจทำให้เสียชีวิตได้ ขอฝากถึงกลุ่มผู้ปกครองควรหมั่นติดตามข่าวสารต่างๆ ช่วยกันสอดส่องและแจ้งเบาะแส สังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานหรือคนในครอบครัว หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยง หรือพบสิ่งของที่เข้าข่ายต้องสงสัย ต้องรีบเข้าไปพูดคุยด้วยเหตุผลไม่ใช้ความรุนแรง บอกกล่าวถึงผลเสียต่อสุขภาพรวมถึงอันตรายที่จะตามมา โดยสามารถขอรับคำปรึกษา
เรื่องยาและสารเสพติด ได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด
1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จ.ปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

*************************************************

 #กรมการแพทย์  #สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี #สบยช. #ยาอีอาร์ตทอย

                                                                             -ขอขอบคุณ-      29  กรกฎาคม 2567



   


View 0    29/07/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์