กรม สบส. ร่วม ตำรวจ ปคบ. บุกรวบหมอนวดเถื่อน ในร้านเสริมสวยย่านห้วยขวาง
- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
- 14 View
- อ่านต่อ
กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เตือนกลุ่มอาการเคลื่อนไหวของดวงตาที่มีความผิดปกติแบบสั่น กระตุกควบคุมไม่ได้ หรือแกว่งกลับไปกลับมา มีชื่อเรียกกลุ่มอาการ Nystagmus เป็นสัญญาณบ่งชี้ความผิดปกติของระบบประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตา แนะควรได้รับการตรวจเพื่อรับการรักษา ที่ถูกต้องต่อไป
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า Nystagmus เป็นลักษณะที่ตาทั้งสองข้างมีการเคลื่อนไหวผิดปกติแบบสั่น กระตุก โดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมได้ มีผลทำให้มองเห็นภาพสั่น ไม่นิ่ง แกว่งกระตุก และส่งผลทำให้มีเวียน มึนงงศีรษะ อาจจะมีอาการเวียนบ้านหมุน คลื่นไส้อาเจียน เดินเซ ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ โดยอาจพบร่วมกันกับอาการทางระบบประสาทอย่างอื่น หรือ มีเฉพาะอาการ Nystagmus ก็ได้ ผู้ป่วยที่มีอาการมานาน หรือเป็นตั้งแต่เด็กอาจไม่มีอาการอะไรเลย หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยก็ได้ เนื่องจากความสามารถในการปรับตัวของระบบประสาท แต่สำหรรับผู้ป่วยที่เพิ่งมีความผิดปกติในภายหลัง มักมีอาการผิดปกติที่ชัดเจน
ลักษณะการเคลื่อนไหวผิดปกติของตาทั้งสองข้าง อาจเห็นสั่น หรือกระตุกกลับไปมา เช่น จากขวาไปซ้าย ซ้ายไปขวา หรือบนลงล่าง ล่างขึ้นบน บางครั้งอาจเห็นการแกว่งหรือบิดเป็นครึ่งวงกลม กลับไปกลับมาไม่เป็นทิศทางชัดเจนก็ได้ และโดยส่วนใหญ่ อาจจะเห็นความเร็วในการเคลื่อนที่ไปมา ช้าเร็วไม่เท่ากันในแต่ละทิศทาง การกระตุกด้านหนึ่งจะกระตุกเร็วกว่าอีกด้านเสมอมีทิศทางความแรงหลายแบบ หรือเห็นได้ชัดเมื่อถูกกระตุ้นด้วยท่าทางบางอย่าง ซึ่งแต่ละลักษณะจะช่วยบอกถึงตำแหน่งของโรคได้ หากมีอาการควรรีบ พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและเข้าสู่กระบวนการรักษา
ว่าที่ร้อยตำรวจโทหญิง แพทย์หญิง นภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มอาการ Nystagmus เกิดได้จากระบบประสาทส่วนกลาง เช่น สมองน้อย (cerebellum) หรือก้านสมองก็ได้ สาเหตุที่พบในประสาทส่วนกลาง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ไม่ว่าจะเป็นการตีบอุดตัน หรือแตก ที่สมองน้อย หรือก้านสมอง โรคปลอกประสาทส่วนกลางอักเสบ โรคเนื้องอกระบบประสาท โรคสมองเสื่อมบางชนิด เป็นต้น และอาจจะพบได้ในผู้ป่วยที่ใช้ยาบางประเภท หรือได้รับยาเกินขนาด หรือผู้ป่วย ที่มีภาวะสมองน้อยฝ่อเนื่องจากพิษสุราเรื้อรัง ส่วนสาเหตุที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน เช่น หูชั้นในติดเชื้อแบคทีเรีย อักเสบ หินปูนในหูชั้นในเคลื่อน และโรค Meniere’s disease ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางการได้ยิน ร่วมกับกลุ่มอาการ Nystagmus ได้
เมื่อเกิดความผิดปกติที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ร่างกายจะสูญเสียสมดุลในการควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตา จนเป็นเหตุให้เกิดการสั่น กระตุก หรือเคลื่อนไหวแบบควบคุมไม่ได้ การวินิจฉัย แพทย์จะทำการซักประวัติ ถามถึงยาที่รับปรระทานประจำ ประวัติดื่มสุรา ร่วมกับตรวจร่างกายอย่างละเอียด แล้วนำมาวิเคราะห์ข้อมูลประกอบกันทั้งหมด เพื่อพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น ตรวจการได้ยิน ตรวจทางรังสีระบบประสาท ตรวจเลือด ตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง หรืออื่น ๆ ที่จะนำไป สู่การวินิจฉัย โดยแนวทางในการรักษาแพทย์จะขึ้นกับสาเหตุที่ตรวจพบ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรมาพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการเพื่อหาสาเหตุและ รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
***************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันประสาทวิทยา #Nystagmus ภาวะตาสองข้างเคลื่อนไหวผิดปกติ
-ขอขอบคุณ- 20 สิงหาคม 2567