วันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2553) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้สุ่มตรวจผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ใน 13 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า มีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ถึงร้อยละ 25 ซึ่งเพิ่มจากเดิมที่มีเพียงร้อยละ 12 ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ จำเป็นต้องเร่งรณรงค์เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม เข้ารับการบริการฉีดวัคซีนฟรี ที่โรงพยาบาลทั่วประเทศโดยสมัครใจ ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่อไป เพราะมาตรการป้องกันดีกว่าที่จะตามมาแก้ไข หากเกิดการแพร่ระบาดรุนแรงแล้วไม่ได้รับวัคซีน ความเสียหายจะรุนแรงมากกว่าและจะทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก
ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2553 มีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว 160,179 คน เป็นหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไปทั้งสิ้น 14,681 คน คิดเป็นร้อยละ 2.9 ของเป้าหมายทั้งหมด คนอ้วน 4,524 คน คิดเป็นร้อยละ 2.5 ผู้พิการ1,269 คน คิดเป็นร้อยละ 1.8 ผู้ป่วยเรื้อรัง 36,917 คน คิดเป็นร้อยละ 4.4 และบุคลากรทางการแพทย์ 102,368 คน คิดเป็นร้อยละ 27.6
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า สำหรับหญิงตั้งครรภ์รายที่เด็กตายในครรภ์ ที่ จ. ชุมพร ในบ่ายวันนี้ (8 กุมภาพันธ์) จะทราบผลเบื้องต้น แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องรอผลการประชุมจากคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอาการภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ที่มีแพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรคเป็นประธาน ประชุมผู้เชี่ยวชาญให้เสร็จสิ้นทั้งหมด จึงจะแถลงให้ทราบว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ซึ่งทางกรรมการชุดนี้จะประชุมโดยเร็ว โดยได้มอบนโยบายขอให้ช่วยเร่งรัดการสรุปผลเพื่อให้ประชาชนทราบ ซึ่งหากไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะได้สบายใจ แต่หากเกี่ยวข้องจะได้นำมากำหนดทิศทางของนโยบาย อย่างทันท่วงที และขอยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้บิดเบือนผลการตรวจ
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จำนวนตัวเลขการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จากเดิมร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 25 นั้นสะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ฯ มีแนวโน้มเกิดการระบาด จำเป็นต้องรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงเข้ามารับการฉีดวัคซีนป้องกัน ตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขโดยความสมัครใจ เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรคอย่างเพียงพอ ลดความเสี่ยงป่วยและเสียชีวิตลง ส่วนกรณีที่หญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนแล้วลูกในครรภ์เสียชีวิต ในการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงจะต้องดูทั้งประวัติของแม่ทั้งหมด และประวัติของลูกในครรภ์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้พิจารณาสรุปผลว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ รายงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีปิดบังข้อมูลอย่างเด็ดขาด
************************************* 8 กุมภาพันธ์ 2553
View 7
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ