วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการตรวจสอบลูกชิ้นเรื่องแสงของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่าวันนี้ผลการตรวจสอบแล้ว จากการตรวจสอบทั้งสิ้น 28 ตัวอย่าง ปรากฎว่าพบลูกชิ้นที่มีการเรืองแสงเฉพาะตัวอย่างที่เก็บมาจากโรงงานในจังหวัดสมุทรปราการกรณีเดียว โดยตรวจพบเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มลูมิเนสเซนส์ (Luminescence) ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้ เมื่อพบกับโปรตีนชนิดลูซิเฟอร์ริน (Luciferrin) จะทำให้เกิดการเรืองแสงได้ แบคทีเรียชนิดนี้ สามารถพบได้ในน้ำทะเล สัตว์ทะเลตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว แต่ยังไม่พบการศึกษาใด ๆ ที่ระบุว่าแบคทีเรียชนิดนี้เป็นอันตรายต่อคน จากการตรวจสอบแล้วคาดว่า กรณีที่แบคทีเรียชนิดนี้พบกับโปรตีนที่ทำให้เกิดการเรืองแสงได้นั้น น่าจะเกิดจากช่วงใดช่วงหนึ่งของขั้นตอนกระบวนการผลิต โดยเฉพาะเชื่อว่าจะมีการปนเปื้อนจากมือพนักงานหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ในช่วงหลังจากที่นำลูกชิ้นลวกสุกแล้วใส่ลงในน้ำเย็น เป็นไปได้ว่าแบคทีเรียชนิดนี้จะติดอยู่ที่อุปกรณ์บางส่วนหรือที่มือพนักงาน แล้วพบกับโปรตีนในเนื้อปลา จึงทำให้เกิดการเรืองแสงขึ้น “ขอแนะนำประชาชนว่า หากพบว่าเป็นลูกชิ้นเรืองแสงก็ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค เพราะว่าอาจจะมีแบคทีเรียตัวอื่นที่เมื่อพบกับโปรตีนแล้วเรืองแสงได้เช่นเดียวกัน และอาจเป็นอันตรายต่อคน แต่ในกรณีที่ตรวจพบนี้เป็นแบคทีเรียชนิดที่ไม่เป็นอันตราย แต่หากเป็นแบคทีเรียชนิดอื่นที่เป็นอันตรายต่อคนก็จะเป็นปัญหาได้ จึงควรหลีกเลี่ยง หรือหากจะรับประทานก็ควรทำให้สุกก่อน เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และก่อนซื้อควรดูฉลากวันที่ผลิตด้วย การบริโภคลูกชิ้นควรบริโภคภายในช่วง 1-2 วันหลังผลิต และเก็บในที่เย็น” นายจุรินทร์กล่าว นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่ตรวจพบการปนเปื้อนแบคทีเรียในกลุ่มลูมิเนสเซนส์ ตามกฎหมายกำหนดให้มีในอาหารได้ไม่เกิน 1 ล้านตัวต่อน้ำหนักอาหาร 1 กรัม ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบเชิงปริมาณต่อไป หากเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ถือว่าเข้าข่ายผิดมาตรฐานของอาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท และกรณีที่ 2 คือบรรจุภัณฑ์ที่จะต้องมีฉลาก พบเบื้องต้นว่าถุงที่บรรจุไม่มีฉลาก เจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการต่อไป มีโทษปรับเช่นเดียวกัน ประการสำคัญคือ ขอให้ผู้บริโภคฟังคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้แนะนำว่าต้องเลิกบริโภคลูกชิ้น แต่แนะนำให้รับประทานอย่างปลอดภัยที่สุดคือการทำให้สุกก่อนรับประทาน แล้วดูวันที่ผลิตประกอบการพิจารณาเลือกซื้อด้วย นายจุรินทร์กล่าว ************************************** 22 กุมภาพันธ์ 2553


   
   


View 12    22/02/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ