นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากประเทศไทยมีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2545 ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ง่ายขึ้น สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง มีผู้เข้ารับบริการเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว โดยเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีประชาชนเข้ารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอกมากถึงวันละ 1,500- 2,000 คน ทำให้การบริการไม่คล่องตัว ผู้ให้บริการทำงานหนักเกินไป ส่วนผู้รับบริการต้องรอพบแพทย์เป็นเวลานาน สร้างความไม่พึงพอใจ เกิดปัญหาร้องเรียนตามมา ทั้งๆที่ร้อยละ 50-75 ของผู้ที่ไปรับบริการที่โรงพยาบาลใหญ่ มีอาการเจ็บป่วยไม่รุนแรง อาการของโรคไม่ซับซ้อน สามารถรักษาได้ที่สถานบริการใกล้บ้านได้
สาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ประชาชนนิยมเข้ารับบริการในโรงพยาบาลใหญ่ เนื่องจากมั่นใจว่าสามารถรักษาโรคได้ดีกว่าสถานพยาบาลขนาดเล็ก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งพัฒนายกระดับมาตรฐานสถานพยาบาลทุกระดับ ให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน โดยใน ปี 2553 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำ โครงการลดความแออัด พัฒนาคุณภาพ ขยายเครือข่าย บริการประทับใจ โดยจะปรับโฉมบริการด่านหน้าของสถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ เพื่อลดความแออัดการให้บริการผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลลงให้ได้ร้อยละ 30 เพิ่มความสะดวก การให้บริการทั่วถึง คล่องตัวและมีคุณภาพ โรงพยาบาลมีโอกาสพัฒนาระบบบริการให้มีคุณภาพ มีมาตรฐานเดียวกันทั้งเครือข่าย สร้างความมั่นใจ ความพึงพอใจให้ผู้รับบริการ และช่วยลดปัญหาการร้องเรียน
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า มาตรการหลักที่จะดำเนินการครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. การปรับโฉมด้านกายภาพ ให้สถานที่ให้บริการผู้ป่วยสะอาด ทั้งห้องตรวจโรค ห้องน้ำ สร้างบรรยากาศผ่อนคลายระหว่างรอตรวจ โดยจัดมุมพักผ่อนสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ มุมทำสมาธิ สวดมนต์ เล่นดนตรี มุมให้ความรู้ มีทีวี เอกสารวิชาการ บริการนวดฝ่าเท้า บริการน้ำดื่ม เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนด้านบุคลากร จัดอบรมให้มีจิตอาสาในการบริการ มีเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญด้านการสื่อสาร อำนวยความสะดวก แก้ไขปัญหาให้แก่ผู้รับบริการตลอด 24 ชั่วโมง
2.เพิ่มศักยภาพผู้ให้บริการ จัดระบบบัตรคิวรอตรวจ มีการประมาณเวลาคร่าวๆให้ผู้ป่วยทราบ จัดให้มีศูนย์บริการให้คำปรึกษา(Call center) ให้บริการแนะนำการรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่ประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลดความแออัด รวมทั้งจัดระบบนัดหมายมาโรงพยาบาลทางอิเลคโทรนิกส์ ระบบการส่งต่อ ส่งกลับ รวมทั้งขยายเครือข่ายบริการโรงพยาบาล อาทิ คลินิก 4 มุมเมือง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในเขตเมือง การให้บริการเบ็ดเสร็จจุดเดียวในคลินิกโรคเฉพาะทาง และเปิดบริการนอกเวลาราชการ
3.การพัฒนาคุณภาพบริการ โดยสร้างความเข้าใจเจ้าหน้าที่ในการจัดบริการที่มีคุณภาพ ตรวจประเมินคุณภาพบริการเป็นระยะๆ จัดทำคู่มือการบริหารความเสี่ยง คู่มือการให้บริการโรคที่เป็นปัญหาและพบบ่อย รวมทั้งกำหนดมาตรฐานเครือข่ายบริการมาตรฐานเดียวกัน สร้างความมั่นใจให้ประชน และ4.การพัฒนาเครือข่ายบริการ โดยพัฒนาคุณภาพบริการโรคเรื้อรังที่พบบ่อยและสำคัญมีมาตรฐานเดียวกันทั้งเครือข่าย ให้ภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการประชาชน และประชาสัมพันธ์ให้ผู้รับบริการทราบถึงบริการที่มี มั่นใจว่าจะทำให้โฉมหน้าบริการของสถานพยาบาลในสังกัดดีขึ้นเรื่อยๆ
****************************** 1 มีนาคม 2553
View 13
01/03/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ