“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
บ่ายวันนี้ (2 มีนาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบ ในการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการกำหนดพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ ว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 5 ปีของการบังคับใช้ตามกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention on Tobacco Control WHO FCTC) เป้าหมายของกรอบอนุสัญญาชุดนี้ มุ่งเน้นการห้ามโฆษณาบุหรี่ และดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ปลอดจากบุหรี่ 100 เปอร์เซนต์ โดยเฉพาะในอาคารและสิ่งปลูกสร้าง โดยได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 พ.ศ. 2553 เรื่อง กำหนดชื่อหรือประเภทของสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และกำหนดส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่สาธารณะดังกล่าวเป็นเขตสูบบุหรี่หรือเขตปลอดบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 คาดว่า เนื้อหาของประกาศดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วันหลังจากประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะนำไปลงประกาศได้ภายในไม่เกิน 1 เดือน ดังนั้นนับจากนี้ไปไม่เกิน 4 เดือน พระราชบัญญัติฉบับนี้จะต้องมีผลบังคับใช้ หากฝ่าฝืนผู้สูบมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท โดยผลสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ระดับโลกปี 2552 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่สูบบุหรี่จำนวน 40.13 ล้านคน
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า เนื้อหาตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่นี้ ได้จัดสถานที่สาธารณะที่เป็นเขตห้ามสูบบุหรี่ให้เป็นหมวดหมู่ชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและการนำไปใช้ โดยกำหนดสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ มี 5 ประเภท ได้แก่ 1.สถานบริการสาธารณสุขและส่งเสริมสุขภาพ 2.สถานศึกษา 3.สถานที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ สถานที่ออกกำลังกาย สถานกีฬา ร้านค้า สถานบริการและบันเทิง บริเวณโถงพักคอย และบริเวณทางเดินทั้งหมดภายในอาคาร สถานบริการทั่วไป สถานที่ทำงาน สถานที่สาธารณะทั่วไป 4.ยานพาหนะสาธารณะทุกประเภท ได้แก่ ยานพาหนะสาธารณะ ในขณะให้บริการไม่ว่าจะมีผู้โดยสารหรือไม่ก็ตาม และสถานีขนส่งสาธารณะทุกประเภท และ5.ศาสนสถาน และสถานปฏิบัติธรรมในศาสนาและนิกายต่างๆ ต่อไปนี้ จะมีกลุ่มพื้นที่ที่ห้ามสูบบุหรี่ 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1. สถานที่ที่ห้ามสูบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในอาคารหรือห้องทำงานส่วนตัว ห้ามสูบเต็มพื้นที่ไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งเดิมกลุ่มนี้เคยอนุญาตให้สูบในอาคารบริเวณพื้นที่ที่จัดไว้หรือพื้นที่ส่วนตัวได้ ประกอบด้วย 1) อุทยานหรือศูนย์การเรียนรู้ สถานฝึกอาชีพ สถานกวดวิชา สถานที่สอนภาษาสอนดนตรี - ขับร้อง สอนการแสดง สอนศิลปะ สอนกีฬา สอนศิลปะป้องกันตัว และอื่นๆ 2) ธนาคาร สถาบันการเงิน 3) ศาสนสถาน 4) สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้งหรือสนามกีฬา 5) โรงพยาบาล หรือสถานรักษาพยาบาลทั้งคนและสัตว์ ที่รับผู้ป่วยหรือสัตว์ไว้ค้างคืน กลุ่มที่ 2 คือ ห้ามสูบเช่นเดียวกัน จากเดิมที่เคยอนุญาตให้จัดพื้นที่สูบบุหรี่ในอาคารหรือสูบในห้องส่วนตัวได้ ขณะนี้ เปลี่ยนเป็นห้ามสูบภายในอาคารและสิ่งก่อสร้าง แต่อนุโลมให้จัดเขตสูบบุหรี่นอกอาคารและสิ่งก่อสร้างได้แก่ 1) สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ หน่วยงานอื่นของรัฐ 2) สถานที่ให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือแก๊สเชื้อเพลิง 3) มหาวิทยาลัย สถานศึกษา สถาบันการศึกษา ตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาขึ้นไป และกลุ่มที่ 3 ห้ามสูบ ในอาคารและสิ่งก่อสร้างเช่นกัน แต่อนุญาตให้สูบในอาคารได้เฉพาะพื้นที่ที่จัดไว้ สถานที่เดียวที่ยังอนุญาตให้สูบบุหรี่ในอาคารและสิ่งปลูกสร้างได้ คือ ท่าอากาศยานนานาชาติ สุวรรณภูมิเฉพาะส่วนนานาชาติเท่านั้น ทางด้านนาย
แพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดี กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 19 นี้ ได้ยกเลิกประกาศฉบับที่ 17 และ 18 เดิม ซึ่งกำหนดชื่อหรือประเภทของสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ส่วนที่มีการแก้ไขบังคับเพิ่มในฉบับที่ 19 นี้ ประการแรกได้แก่ 1.ประเภทของยานพาหนะที่ห้ามสูบบุหรี่ บังคับถึงยานพาหนะสาธารณะทุกชนิด ในขณะให้บริการไม่ว่าจะมีผู้โดยสารหรือไม่ก็ตาม ได้แก่ รถแท็กซี่ รถไฟ รถราง รถตู้โดยสาร กระเช้าโดยสาร เรือโดยสาร เครื่องบิน ยานพาหนะโดยสารอื่นๆ ทั้งประเภทประจำทางและไม่ประจำทาง 2. ประเภทสถานีขนส่งสาธารณะ ได้แก่ ที่พักผู้โดยสาร ป้ายรถเมล์ บริเวณที่ใช้รอก่อนหรือหลังการใช้บริการยานพาหนะโดยสารทุกประเภท บริเวณอาคาร ชานชาลา และพื้นที่ภายใต้หลังคาของสถานีขนส่งผู้โดยสารทางบกทั้งรถยนต์ รถไฟ และท่าเรือโดยสาร ส่วนท่าอากาศยานภายในประเทศ บังคับเฉพาะบริเวณในอาคารและพื้นที่ภายใต้หลังคา และประเภทที่ 3 สถานที่ที่ใช้จัดประชุม อบรม สัมมนาหรือสันทนาการ บังคับทั้งอาคาร
ประการที่ 2 สถานที่ห้ามสูบ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ 1) สถานที่จัดแสดงศิลปวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์สถาน หรือหอศิลป์ 2)ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานที่แสดงสินค้าหรือนิทรรศการ 3) ร้านตัดผม ร้านตัดเสื้อ สถานเสริมความงาม 4) สถานที่บริการคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ตู้เกมส์ ตู้คาราโอเกะ 5) อุทยานหรือศูนย์การเรียนรู้ สถานฝึกอาชีพ สถานกวดวิชา สถานที่สอนภาษาสอนดนตรี - ขับร้อง สอนการแสดง สอนศิลปะ สอนกีฬา สอนศิลปะป้องกันตัว และอื่นๆ 6) ธนาคาร สถาบันการเงิน 7) ศาสนสถาน หรือสถานที่ประกอบศาสนกิจในนิกาย หรือศาสนาต่างๆ ในส่วนอื่นทั้งหมด นอกเหนือจากบริเวณที่ประกอบศาสนกิจ 8) สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือสนามกีฬา 9) โรงพยาบาล หรือสถานรักษาพยาบาลทั้งคนและสัตว์ ประเภทที่รับผู้ป่วยหรือสัตว์ไว้ค้างคืน 10) สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ โดยอนุญาตให้จัดเขตสูบบุหรี่ได้เฉพาะส่วนที่เป็นอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ โบราณสถาน อุทยานหรือวนอุทยานแห่งชาติ
ประการที่ 3 สถานที่ที่อนุโลมให้จัดเขตสูบบุหรี่นอกอาคารและสิ่งก่อสร้างได้ ได้แก่ สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหรือแก๊สเชื้อเพลิง มหาวิทยาลัย สถานศึกษา สถาบันการศึกษา ตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาขึ้นไป ประการที่ 4 สถานที่ห้ามสูบเป็นบางส่วน ได้แก่ สถานที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีระบบปรับอากาศ ห้ามสูบบุหรี่เฉพาะบริเวณที่มีการขาย และโต๊ะรับประทานอาหาร ประการที่ 5 สถานที่ดังต่อไปนี้ ได้แก่ โรงแรม รีสอร์ท สถานที่พักตากอากาศ ห้องเช่า หอพัก คอร์ท อพาร์ทเมนต์ หรือสถานที่ที่ให้บริการในลักษณะเดียวกัน และอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม ให้สูบได้เฉพาะห้องส่วนตัว เท่านั้น และประการสุดท้าย สถานที่ที่อนุญาตให้จัดสถานที่สูบบุหรี่ภายในอาคารและสิ่งปลูกสร้างได้ คือ ท่าอากาศยานนานาชาติ
************************************** 2 มีนาคม 2553