ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งแพทย์ทุกจังหวัดให้ยาโอเชลทามีเวียร์ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มป่วย ไม่ต้องรอผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ลดอัตราการเสียชีวิต และให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กลุ่มเสี่ยง โดยความสมัครใจ เน้นล้างมือบ่อยๆ หากมีไข้ให้ไปพบแพทย์ภายใน 2 วัน
เช้าวันนี้ (9 มีนาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ เพื่อมอบนโยบายเร่งด่วนเรื่องการแก้ปัญหาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จำนวน 6 ราย ซึ่ง 2 รายได้รับยาโอเซลทามิเวียร์ค่อนข้างช้า ขอให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่ง นัดประชุมย้ำเตือนให้แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วย ต้องให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ที่อาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงต้องให้ยาทันที โดยไม่ต้องรอผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ส่วนสถานพยาบาล และสถานีอนามัย หากพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ให้รีบส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพื่อให้ได้รับยาอย่างทันท่วงที โดยยึดแนวทางการรักษาของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้
สำหรับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่มีอาการหนัก สงสัยอาจป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้รีบรายงานผู้ตรวจราชการเพื่อให้การช่วยเหลือทันที และหากมีผู้เสียชีวิต ให้ประชุมหาสาเหตุการเสียชีวิตทุกราย เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด นอกจากนี้ ขอให้ทุกจังหวัดเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะ 7 จังหวัดที่ยังมีผู้มารับวัคซีนน้อยกว่าร้อยละ 10 ได้แก่ ชลบุรี สมุทรสงคราม สตูล ราชบุรี ปทุมธานี กาญจนบุรี และจันทบุรี เน้นการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ฉีดวัคซีนตามความสมัครใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์
ขอยืนยันว่าจนถึงวันนี้ ฉีดไปแล้วกว่า 4 แสนโด๊ส ยังไม่พบผู้มีอาการแพ้รุนแรง และคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วพบว่าปัญหาที่เป็นข่าวในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แต่เพื่อความไม่ประมาทขอให้ระมัดระวังเป็นพิเศษในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หากมีประวัติแท้งหรือปัญหาสุขภาพระหว่างที่มารับการฉีดวัคซีน ให้ปรึกษาสูติแพทย์ก่อนว่าควรฉีดวัคซีนให้หรือไม่
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่า ในปี 2553 นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายให้เปิดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของจำนวนสถานีอนามัยทุกจังหวัดอย่างต่ำ 4,000 5,000 แห่ง เพื่อให้สัมพันธ์กับการตั้งงบประมาณปี 2554 และงบโครงการไทยเข้มแข็ง โดยดำเนินงาน 2 รูปแบบ คือแบบเดี่ยวและแบบเครือข่าย โดยบุคลากรขั้นต่ำที่ควรมีประกอบด้วย 1.หัวหน้าหรือผู้อำนวยการ รพ.สต. 2.แพทย์/พยาบาลเวชปฏิบัติ 3.เจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือนักวิชาการสาธารณสุข 4.เจ้าพนักงานทันตกรรม/เจ้าพนักงานเภสัช/กายภาพบำบัด ให้ทุกจังหวัดเร่งสำรวจบุคลากรของสถานีอนามัยที่ยกระดับรพ.สต.ส่งให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ภายในวันที่ 11 มีนาคมนี้ เพื่อนำเข้าที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขในวันจันทร์หน้า ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน
************************************ 9 มีนาคม 2553
View 11
09/03/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ