โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนอย่าวิตกโรคไข้หวัดใหญ่ ยันเชื้อที่พบเป็นเชื้อตัวเดิม ยังไม่มีการกลายพันธุ์ แต่มีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ประชาชนสามารถป้องกันตัวเองได้โดยให้ปฏิบัติ คือกินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ ออกกำลังกาย กินผลไม้เพิ่มวิตามินซี และเมื่อป่วย ดูแลตัวเองแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน ต้องไปพบแพทย์ เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนอื่น โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ ที่พบผู้เสียชีวิตในปี 2550 แล้ว 3 รายว่า ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากผลการถอดรหัสเชื้อทางห้องปฏิบัติการพบว่ายังเป็นเชื้อเอช 1 เอ็น 2 (H1N2) หรือเอช 3 เอ็น 2 (H3N2) ตัวเดิมเหมือนที่พบทุกปี แต่ปีนี้รุนแรงมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆมา สาเหตุที่ทำให้เชื้อรุนแรงขึ้น อาจมาจากตัวของผู้ป่วยอ่อนแออยู่เดิม และอาจเกิดจากตัวเชื้อไวรัสที่อาจมีการปรับตัวไปกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป มีผลให้เชื้อคงทนขึ้น ทำให้เกิดโรครุนแรงขึ้น โดยโรคไข้หวัดใหญ่นี้พบได้ตลอดปี แต่จะพบมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากสภาพอาการเย็น ทำให้เชื้อไวรัสอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น ทั้งนี้ สถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2549 สำนักระบาดวิทยารายงานว่า ตลอดปีพบผู้ป่วย 16,309 ราย เสียชีวิต 2 ราย และในปี 2550 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึงวันนี้ ทั่วประเทศมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 154 ราย เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งการมีผู้เสียชีวิตนั้น ชี้ให้เห็นว่าเชื้อมีความรุนแรงขึ้น นายแพทย์สุพรรณกล่าวว่า อาการที่เด่นชัดของโรคไข้หวัดใหญ่ จะรุนแรงกว่าไข้หวัดทั่วไป คือเริ่มต้นมีไข้สูง ในเด็กเล็กอาจมีน้ำมูกและไอร่วมด้วย ส่วนเด็กโตหรือผู้ใหญ่มักจะมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยหากป่วยเป็นไข้หวัดทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 3-5 วันอาการก็จะทุเลา แต่หากเป็นไข้หวัดใหญ่จะใช้เวลานานกว่า และไข้หวัดใหญ่อาจเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ และเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ที่พบได้บ่อยได้แก่โรคปอดบวม รองลงมาคือโรคหลอดลมอักเสบ และการอักเสบของหูส่วนกลาง ดังนั้น หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ จะต้องดูแลรักษาตัวเองในเบื้องต้นตามอาการก่อน เนื่องไวรัสตัวนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ โดยให้พักผ่อนให้มากๆ กินยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน และให้เช็ดตัว หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน เช่นไข้สูงขึ้น ไอมากขึ้นหรือมีอาการเหนื่อยหอบ จะต้องรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง เพราะอาจจะมีโรคแทรกซ้อนอื่น โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในวัยทำงานที่มีโรคประจำตัวด้วย เช่นเบาหวาน โรคหอบหืด หากป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานโรคในร่างกายน้อยกว่าคนวัยอื่นๆ นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า โรคไข้หวัดใหญ่ จะติดต่อทางการไอจามรดกัน เชื้อจะปนมากับเสมหะน้ำมูกน้ำลาย ดังนั้นในการป้องกันโรคนี้ ผู้ที่ป่วยแล้วต้องใช้ผ้าปิดปากจมูกเวลาไอจาม และไม่ใช้ผ้าเช็ดหน้าผ้าเช็ดตัว รวมทั้งแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่สู่คนอื่น ในกลุ่มประชาชนทั่วไปขอให้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที กินอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ที่สำคัญคือให้รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูงๆ เช่น ฝรั่ง มะขามป้อม จะช่วยได้ แต่หากเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุที่กินผลได้น้อย สามารถกินวิตามินซีเสริมได้ นอกจากนี้ควรสวมเสื้อผ้าให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงเข้าไปในที่ชุมชนแออัด หรือให้ยึดหลักปฏิบัติคือกินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือ เนื่องจากอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนจะปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ ส่วนการใช้ช้อนกลางและล้างมือนั้นจะลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆที่ติดทางการกินอาหารและทางมือ เช่นโรคมือเท้าปาก ไข้หวัด โรคไวรัสตับอักเสบ ได้ ส่วนในกลุ่มที่มีร่างกายอ่อนแอเช่นในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ อาจใช้วัคซีนป้องกันได้ โดยคำแนะนำของแพทย์ผู้ทำการรักษา นายแพทย์สุพรรณกล่าว *************************** 26 มกราคม 2550


   
   


View 8    26/01/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ