สาธารณสุข เผยแนวโน้มการใช้ยาเสพติดรุนแรงขึ้น ใช้ผสมเสพคราวละหลายตัว อายุผู้เสพน้อยลงเรื่อยๆ อยู่ระหว่าง 11-14ปี ส่วนใหญ่เสพยาบ้า กัญชา ยาไอซ์ ตั้งเป้าบำบัดฟื้นฟูผู้ติดผู้เสพยาเสพติดในปีนี้ให้ได้ 150,000 คน ทั้งกลุ่มที่เสพแต่ยังไม่ติด กลุ่มผู้เสพติดแต่ยังไม่มาก และกลุ่มผู้เสพติดมาก เน้นชุมชนมีส่วนร่วม
          วันนี้ (24 มีนาคม 2553) ที่โรงแรมมิราเคิล กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการจังหวัดต้นแบบบูรณาการงานยาเสพติด โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลงานบริการด้านบำบัดฟื้นฟูผู้เสพสารเสพติด ของโรงพยาบาลทุกระดับ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สถานีอนามัย กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต รวม 250 คน เพื่อพัฒนาระบบบริการผู้เสพสารเสพติดทุกชนิดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า ผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการประเทศไทยเข้มแข็ง ชนะยาเสพติดยั่งยืนระยะที่ 1ในปี 2552 ตั้งแต่ 1เมษายน-30กันยายน 2552 มีผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดทั่วประเทศเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูทุกระบบรวม 58,366 ราย จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ 120,000ราย ยาเสพติดที่ใช้มากอันดับ 1ร้อยละ 75ได้แก่ ยาบ้า รองลงมาเป็นกัญชา ยาไอซ์ ยาเลิฟ และสารระเหย ซึ่งแนวโน้มการใช้ยาเสพติดขณะนี้รุนแรงขึ้น มีการนำยาเสพติดหลายชนิดมาผสมกัน เช่นสูบยาบ้าผสมกัญชา ใช้ยาไอซ์ ซึ่งเป็นผลึกบริสุทธิ์ของยาบ้า ราคาแพงออกฤทธิ์รุนแรงกว่ายาบ้าหลายเท่าตัวที่น่าห่วงคืออายุของผู้เสพยาน้อยลง อยู่ระหว่าง 11-14ปี จากเดิม 15-24ปี
          นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 สิ้นกุมภาพันธ์ 2553 ได้บำบัดไปแล้ว 38,047 ราย ตลอดปีงบประมาณ 2553กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้า บำบัดฟื้นฟูผู้ติดผู้เสพยาเสพติดทุกชนิดให้ได้ 3แสนคนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งชนะยาเสพติด ในจำนวนนี้ร้อยละ 50 หรือ 150,000 คน ให้เป็นแบบสมัครใจ โดยเตรียมพร้อมสถานที่บำบัด และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะรองรับ และให้ประชาคมมีส่วนร่วมค้นหาผู้เสพ ผู้ติดยาในชุมชน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษาฟื้นฟูร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม. จัดระบบบำบัดไว้ 3กลุ่มได้แก่ กลุ่มผู้เสพแต่ยังไม่ติด จะบำบัดอยู่ในชุมชน เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในกลุ่มของผู้เสพติดแต่ยังไม่มากจะบำบัดที่คลินิกยาเสพติดในโรงพยาบาลอำเภอ หรือจังหวัด ส่วนกลุ่มผู้ที่เสพติดมาก จะนำเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในศูนย์บำบัดยาเสพติด 6แห่งทั่วประเทศกระจายทุกภาค
          นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังมีนโยบายให้ทุกจังหวัดเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการ และเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยให้หน่วยงานสาธารณสุขทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดระบบที่ยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2552 มีจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการเป็นจังหวัดต้นแบบในการแก้ไขบัญหายาเสพติดแบบบูรณาการ 25 จังหวัดและประสบผลสำเร็จอย่างดี ได้แก่ พิษณุโลก ตาก แพร่ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี อุดรธานี ตรัง เชียงใหม่ ปทุมธานี เลย ปราจีนบุรี นครปฐม กระบี่ ลำปาง นนทบุรี ตราด สมุทรปราการ ชัยภูมิ อุตรดิตถ์ ลพบุรี นครพนม ปัตตานี สตูล และพะเยา
ทั้งนี้ ในปีนี้ได้สร้างแรงจูงใจในการพัฒนา โดยจัดพิธีมอบรางวัลหน่วยงานที่มีระบบบริหารจัดการการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพสารเสพติดดีเด่นประจำปี 2552 จำนวน 18 รางวัล 4 ประเภท ประกอบด้วยประเภทการบริหารจัดการองค์กรเพื่อดำเนินงานด้านยาเสพติดที่มีประสิทธิภาพ ประเภทรูปแบบการพัฒนาระบบงานยาเสพติดด้านการบำบัดรักษาฟื้นฟู ประเภทรูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ผ่านการบำบัดรักษา และประเภทผู้นำชุมชนและผู้นำเยาวชน บุคคลต้นแบบ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานด้วย  ************      24 มีนาคม 2553


   
   


View 13    24/03/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ