สาธารณสุข เร่งขยายพื้นที่ปลอดการขาย ดื่ม และโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดสิ่งทำลายสุขภาพ เผยในปี 2551 พบคนไทยป่วยเพราะฤทธิ์เหล้าทำลายตับกว่า 33,000 ราย เป็นชายมากกว่าหญิง 4 เท่าตัว และเสียชีวิตปีละกว่า 2 หมื่นราย ขณะนี้ยอดการดื่มเหล้าในปี 2552 สูงถึง 2,600 ล้านกว่าลิตร

วันนี้ (24 มีนาคม 2553) ที่โรงแรมทวินโลตัส จ.นครศรีธรรมราช นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับผู้ว่าราชการ 14 จังหวัดภาคใต้ สสส. กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้สถานที่ราชการและสวนสาธารณะที่อยู่ในกำกับดูแลเป็นสถานที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551ว่า จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ในปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจ คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2,699 ล้านลิตร หากคิดจากจำนวนผู้ที่ดื่มสุราอายุ 15 ปีขึ้นไปตามผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2550 ที่มีประมาณ 51 ล้านคน จะดื่มเฉลี่ยคนละประมาณ 53 ลิตร

เมื่อแยกตามชนิดของเครื่องดื่ม พบว่าปริมาณการจำหน่ายเหล้าเพิ่มขึ้นจาก 887 ล้านลิตรในปี 2551 เป็น 943 ล้านลิตรในปี 2552 ขณะที่พบผู้ป่วยตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบซึ่งเกิดจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ทำลาย มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2550 มี 27,409 ราย ในปี 2551 เพิ่มเป็น 33,480 ราย เป็นชายมากว่าหญิง 4 เท่าตัว เสียชีวิต 21,893 ราย ซึ่งข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าหากตับอ่อนถูกทำลายมากๆ จะทำให้เป็นเบาหวานได้ด้วย เพราะตับอ่อนมีหน้าที่ผลิตสารควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ที่น่าห่วงคือผลของการเปิดการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่มกราคม 2553 เป็นต้นไป ทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตในภูมิภาคไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า อาจทำให้ประชาชนไทยดื่มเหล้ามากขึ้นได้ จึงต้องเร่งรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงอันตรายจากเหล้าให้ถี่ขึ้น และเร่งขยายพื้นที่ปลอดการขายเหล้า การดื่มเหล้าให้มากขึ้น โดยจะขยายความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศให้ครบภายในปีนี้ และในปี 2554 จะขยายให้ครอบคลุมถึงระดับท้องถิ่นทั่วประเทศต่อไป

ด้านนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ สถานที่ราชการต้องจัดให้สถานที่ราชการและสวนสาธารณะที่อยู่ในกำกับดูแล ปลอดการขาย การดื่ม และห้ามมีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรณีที่ยังเลิกขายทั้งหมดไม่ได้ ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เฉพาะในร้านค้าหรือสโมสรที่เปิดบริการเป็นประจำหรือถาวร และต้องได้รับอนุญาตจากสถานที่ราชการนั้นๆ เท่านั้น ห้ามขายให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และให้ขายได้เฉพาะเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ 11.00-14.00 น. และ 17.00 - 24.00 น. โดยมีผลใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครือข่าย ได้ออกสำรวจและตรวจเตือนทั่วประเทศ 882 รายและดำเนินคดี 234 คดี ส่วนใหญ่เป็นกรณีจำหน่ายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี โดยหากผู้ประกอบการฝ่าฝืน กรณีโฆษณาหรือสื่อสารการตลาด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากขายหรือดื่มในสถานที่ห้าม เช่น ในวัด สถานที่ราชการ โรงเรียน สวนสาธารณะ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากขายผิดเวลามีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิด สามารถโทรแจ้งได้ที่ 02 5903342 ตลอด24ชั่วโมง

****24 มีนาคม 2553



   
   


View 2       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ