วันนี้(26 มีนาคม 2553)ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามข้อตกลงระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เรื่องการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยอากาศยาน เพื่อให้บริการประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากโรงพยาบาล ซึ่งการเดินทางด้วยรถยนต์ หรือเรือยากลำบาก หรือในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น

                    

          นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยอากาศยานนั้น มี 2 รูปแบบ คือ เฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินปีกหมุนรวมทั้งหมด 101 ลำ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีเครื่องบินปีกหมุน27 ลำ มีเฮลิคอปเตอร์ 8 ลำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีเฮลิคอปเตอร์ 15 ลำ กองทัพมีเฮลิคอปเตอร์ 50 ลำ และภาคเอกชน 1 ลำ ประโยชน์ที่จะได้รับ คือ ลดการเสียชีวิต  ลดความพิการ รวมถึงการเจ็บป่วยรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น และลดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นการเตรียมการบริการด้านการแพทย์แก่ชาวต่างประเทศที่เข้ามาประชุม ท่องเที่ยว หรือติดต่อธุรกิจ สนับสนุนการสาธารณสุขด้านการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งยังเป็นการสะท้อนการบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่เทียบเท่ากับต่างประเทศ มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป  ตั้งเป้าภายในปี 2555 จะลดอัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินลงจากปี 2551 ให้ได้ร้อยละ 15  จะช่วยผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤติเร่งด่วนได้รับการรักษาอย่างน้อยร้อยละ 50 และบริการเข้าถึง ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน
          ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่ เดือนธันวาคม 2551 – มกราคม 2552 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้รับการสนับสนุนหน่วยบินจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3 ครั้ง มีผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือ 30 ราย ซึ่งกรณีนี้หากผู้ป่วยดังกล่าวไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที จะเกิดความสูญเสีย 178 ล้านบาท 
นพ. ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศยาน  มีเป้าหมายเพื่อให้การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย  ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ เมื่ออยู่ในเงื่อนไขที่กำหนด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  ใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน
นพ.ชาตรี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้ร่วมกับสถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ จัดอบรมหลักสูตรการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศเบื้องต้น  เพื่อเพิ่มศักยภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้านระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ ประกอบด้วยทีมแพทย์ พยาบาลเวชศาสตร์ฉุกเฉินและเจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน  ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถให้การดูแลผู้ป่วยวิกฤติและฉุกเฉินบนอากาศยานได้ 
 สำหรับการขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เช่น กรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยที่มีอาการหนักเช่น ช็อค เป็นโรคหัวใจเข้าขั้นโคม่าในความรู้สึกของชาวบ้าน สามารถโทรแจ้ง 1669 ได้ทั่วไทย จะมีเจ้าหน้าที่รับสายตลอด 24 ชั่วโมง และมีพยาบาลวินิจฉัย ส่งรถพยาบาลหรือพาหนะที่เหมาะสมไปรับ ให้บริการนำส่งโรงพยาบาลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยรักษาชีวิตให้ทันท่วงที  
************* 26 มีนาคม 2553


   
   


View 12    26/03/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ