รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2552เรื่องให้ผู้ผลิตนำเข้าบุหรี่ พิมพ์ 10 ภาพคำเตือนภัยบุหรี่ ให้ผู้สูบเห็นอันตรายของบุหรี่ทุกครั้งก่อนจะสูบ พร้อมเบอร์สายด่วน 1600 เลิกสูบบุหรี่ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 29 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป ชี้ไทยเป็นประเทศที่ 4 ที่ใช้สื่อภาพเตือนตรงถึงกลุ่มผู้สูบ โดย 5 ประเทศ อาทิ บรูไน มาเลเซีย สนใจขอต้นแบบของไทยไปใช้ด้วย นางพรรณสิริ กุลนารถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนไทย ลด ละสูบบุหรี่ทุกชนิด เพื่อลดการเจ็บป่วยจากการสูดสารอันตรายที่อยู่ในบุหรี่ที่มีมากถึง 4,000 ชนิด เป็นสาเหตุทำให้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด รวมทั้งโรคถุงลมปอดโป่งพองเรื้อรัง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานจากอาการหอบ ล่าสุดนี้มีคนไทยป่วยจากโรคนี้ประมาณ 200,000 คน นางพรรณสิริกล่าวต่อว่า ในปี 2553 นี้ จะมีกฎหมายที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มีผลบังคับใช้อีก 1 ฉบับ คือประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงฉลากรูปภาพและข้อความคำเตือน ถึงพิษภัยของบุหรี่ซิการ์ พ.ศ. 2552 ซึ่งมีสาระว่าด้วยการบังคับให้บริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าบุหรี่ทุกชนิดที่นำมาจำหน่ายในประเทศไทย ต้องพิมพ์ภาพคำเตือนภัย จำนวน 10 ภาพ พิมพ์ด้วย 4 สี มีพื้นที่ขนาดร้อยละ 55 บนซองบุหรี่ด้านหน้าและด้านหลังทุกซอง พร้อมเบอร์ไทรสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 เพื่อให้ประชาชนที่สูบบุหรี่หรือผู้ที่กำลังจะริลองสูบบุหรี่ ได้เห็นพิษภัยอันตรายของสารพิษในบุหรี่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งประกาศฯดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 และมีผลใช้บังคับหลังลงในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน คือตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป ส่วนผลิตภัณฑ์ยาสูบรุ่นเก่าที่ยังตกค้างในท้องตลาด อนุโลมให้จำหน่ายต่อไปอีก 90 วัน จากนั้นจะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขพ.ศ.2552 ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2553 เป็นต้นไป นางพรรณสิริกล่าวอีกว่า วิธีการพิมพ์ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่นี้ ถือว่าเป็นการรณรงค์ให้ข้อมูลแก่ผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่ตรงกลุ่มที่สุดและประหยัดที่สุด เป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลกว่า วิธีนี้เป็นการให้ข้อมูลที่มีความส่ำเสมอ ผู้สูบบุหรี่จะได้ข้อมูลทุกครั้งที่หยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ และใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าจะสูบต่อหรือเลิกสูบ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ 4 ที่ใช้การรณรงค์วิธีนี้ มาตรการของไทยนี้ เป็นที่สนใจของ 5 ประเทศ ได้แก่มาเลเซีย บรูไน ลาว คาซัคสถาน และสิงคโปร์ ได้ขอต้นแบบภาพคำเตือนนี้ นำไปใช้ในประเทศด้วย นอกจากนี้การบังคับพิมพ์ภาพคำเตือนนี้ ยังมีผลในการควบคุมบุหรี่เถื่อนหรือบุหรี่หนีภาษีอีกด้วย ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ภาพคำเตือน 10 ภาพ ประกอบด้วย 1.สูบแล้วหัวใจวายตาย 2. สูบแล้วถุงลมพองตาย 3. สูบแล้วเป็นมะเร็งปอดตาย 4.ควันบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็ง 10 ชนิด 5.สูบแล้วเป็นมะเร็งกล่องเสียง 6.สูบแล้วเส้นเลือดสมองตีบตาย 7.สูบแล้วเป็นมะเร็งช่องปาก 8.ควันบุหรี่ฆ่าคนใกล้ชิด 9.สูบแล้วปากเหม็นบุหรี่ และ 10.สูบแล้วเท้าเน่า ภาพประกอบคำเตือนนี้ จะเป็นการสร้างค่านิยมการไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ภาพและคำเตือนที่ชัดเจนจะทำให้ประชาชนมีความรู้ และตระหนักถึงอันตรายจากการสูบบุหรี่มากขึ้น โดยขนาดของภาพที่พิมพ์จะใหญ่เห็นชัดกว่าเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 คือมีขนาดกว้าง 5.5 เซนติเมตร ยาว 4.75 เซนติเมตร พื้นที่พิมพ์ใหญ่ขึ้นจากเดิมร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 55 ภาพคำเตือนเหล่านี้อาจต้องปรับเปลี่ยนทุก 2 ปี เพื่อป้องกันความซ้ำซาก ******************************************* 28 มีนาคม 2553



   
   


View 20    28/03/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ