ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำทุกจังหวัดเร่งรณรงค์ให้ความรู้การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง เผยผลสำรวจพฤติกรรมประชาชนเดือนธันวาคม 2552 พบประชาชนละเลยการป้องกันตัว เสี่ยงโรคแพร่ระบาด เช่น ไม่ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อเป็นหวัด ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อสัตว์ปีกตายผิดปกติ มากถึงร้อยละ 41

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดขณะนี้ขยายตัวในทั่วทุกภาค สาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคแพร่ระบาดต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากประชาชนละเลยการป้องกันโรค เช่น ไม่หยุดพักเรียนหรือหยุดงานหลังป่วย ไม่สวมหน้ากากอนามัย และไม่ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะภายหลังจับสิ่งของสาธารณะ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โทรศัพท์ ซึ่งน่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในฤดูฝนในเดือนพฤษภาคมจนถึงสิงหาคมที่จะมาถึง ซึ่งเป็นฤดูกาลที่พบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่รวมทั้งไข้หวัดนก หากไม่มีมาตรการป้องกันควบคุมที่เข้มข้น อาจเกิดการระบาดของ 2 โรคนี้ และอาจผสมข้ามสายพันธุ์ทำให้โรครุนแรงขึ้น ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกจังหวัด รณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้ความรู้กระตุ้นเตือนประชาชนทุกพื้นที่ให้เห็นความสำคัญ และปฏิบัติตนเพื่อการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในช่วงโรงเรียนปิดเทอม ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานเป็นพิเศษ เนื่องจากเด็กบางคนอาจไปเรียนพิเศษตามสถาบันกวดวิชาต่างๆ หากเด็กป่วยเป็นไข้หวัดขอให้หยุดพักที่บ้านจนกว่าจะหายป่วย เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนทำให้โรคไม่รุนแรงมากขึ้น และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
ด้านนายแพทย์นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กองสุขศึกษา ได้เฝ้าระวังพฤติกรรมการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และไข้หวัดนกของประชาชน 1,472 คน ใน 18 จังหวัดที่เคยมีโรคดังกล่าวระบาด ได้แก่ ปทุมธานี ชัยนาท ปราจีนบุรี สุพรรณบุรี พัทลุง สตูล หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก นครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร กำแพงเพชร และกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนธันวาคม 2552 พบว่า ประชาชนยังมีพฤติกรรมเสี่ยงติดโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ส่วนโรคไข้หวัดนกพบว่าส่วนใหญ่ยังเลี้ยงไก่ในระบบปิดน้อย ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่นเดียวกับผลการสำรวจในเดือนสิงหาคม 2552
ทั้งนี้ ผลการสำรวจโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 พบว่าร้อยละ 3 ของพื้นที่เคยมีผู้ป่วยโรคนี้ โดยผู้ป่วยร้อยละ 17 ไม่สวมหน้ากากอนามัย ให้เหตุผลว่าไม่มีหน้ากากอนามัย ใส่แล้วอึดอัดรำคาญ ส่วนพฤติกรรมการป้องกันโรคที่ปฏิบัติได้ถูกต้องเป็นประจำมากที่สุดคือการกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ร้อยละ 84 สิ่งที่ยังปฏิบัติน้อยคือ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อเป็นหวัดมีร้อยละ 36 ทำความสะอาดลูกบิดประตู ราวบันได โทรศัพท์ มีร้อยละ 38 ส่วนโรคไข้หวัดนกพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการเลี้ยงสัตว์ปีกร้อยละ 37 ในจำนวนนี้ร้อยละ 73 เลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ ส่วนพฤติกรรมการป้องกันโรคที่ปฏิบัติได้ถูกต้องเป็นประจำมากที่สุดคือการกินไก่/สัตว์ปีกที่ปรุงสุกดีแล้วร้อยละ 88 การปฏิบัติที่ยังมีน้อย ได้แก่ การไม่แจ้งผู้เกี่ยวข้องเมื่อพบไก่/สัตว์ปีกตายผิดปกติพบมากถึงร้อยละ 41 ไม่ล้างหรือแยกเขียงหั่นชำแหละไก่ร้อยละ 53 อีกร้อยละ 65 ยังเลี้ยงไก่/สัตว์ปีกแบบปล่อยตามธรรมชาติ                     *****************       29 มีนาคม 2553


   
   


View 17    29/03/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ