สาธารณสุขจับมือหน่วยงานราชการในจังหวัดสุโขทัย แก้ไขปัญหาเด็กจมน้ำครอบคลุมทุกมาตรการ เป็นจังหวัดแรกในประเทศ ชี้ภัยจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ปีละเกือบ 1,500 คน สาเหตุเพราะกว่าร้อยละ 80 ว่ายน้ำไม่เป็น เฉพาะที่สุโขทัยเสียชีวิตปีละ 13 คน เป็นเด็กอายุ 5-9 ปีมากที่สุด  

วันนี้( 2 เมษายน 2553 ) ที่โรงแรมไพลิน จ.สุโขทัย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือป้องกันปัญหาการจมน้ำของเด็กในจังหวัดสุโขทัยครอบคลุมทุกมาตรการ ระหว่างนายไพบูลย์ ปัญจะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด รองอธิการบดีสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตสุโขทัย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัยเขต 1,2 พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุโขทัย ท้องถิ่นจังหวัดสุโขทัย และนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดสุโขทัย
          นางพรรณสิริ กล่าวว่า สุโขทัยเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทยที่เริ่มดำเนินการป้อกันการจมน้ำอย่างครอบคลุมทุกมาตรการ โดยทุกฝ่ายตั้งเป้าหมายสำคัญร่วมกันคือ “การทำให้จังหวัดสุโขทัยไม่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต”   ทั้งนี้จากสถิติ ปี พ.ศ.2545-2551 จังหวัดสุโขทัยมีเด็กจมน้ำตายเฉลี่ยปีละ 13 คน    กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 5-9 ปี ร้อยละ 44 รองมาคือ 1-4 ปี ร้อยละ 29 เพศชายเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิง 2 เท่าตัว และจากการสำรวจปี พ.ศ.2551 พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทั่วประเทศกว่าร้อยละ 80 ว่ายน้ำไม่เป็น โดยมีเด็กว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 16 เฉพาะที่จังหวัดสุโขทัยมีเด็กว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 18
          นางพรรณสิริกล่าวต่อว่า ในการร่วมมือป้องกันเด็กจมน้ำของจังหวัดสุโขทัยครั้งนี้ ได้ให้ทุกอำเภอ ทุกตำบล และทุกหมู่บ้านในจังหวัดสุโขทัย ปฏิบัติมาตรการดังนี้คือ 1.มีการสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงทั้งในบ้านและรอบๆบ้านและชุมชน 2.มีการเฝ้าระวังและเตือนภัยเด็กในชุมชน หากพบเด็กเล่นน้ำตามลำพัง 3.มีการสร้างรั้วล้อมรอบหรือติดป้ายคำเตือนหรือมีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำในแหล่งน้ำเสี่ยง 4.มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นของหมู่บ้านก่อนที่จะมีการขุดแหล่งน้ำ 5.มีการกำจัดแหล่งน้ำเสี่ยง เช่นการเทน้ำทิ้งหลังการใช้งาน การหาฝาปิดหรือการฝังกลบหลุมหรือบ่อที่ไม่ได้ใช้   6.มีการสอนให้เด็กรู้จักวิธีเอาชีวิตรอดในน้ำและวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง โดยเด็กที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรือเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาซึ่งอายุครบ 7 ปี ให้มีทักษะในเรื่องดังกล่าวครบทุกคน 7.มีการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและเด็กผ่านทางอาสาสมัครสาธารณสุขและสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง
ทั้งนี้การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ในแต่ละปีมีเด็กไทยจมน้ำเสียชีวิตเกือบ 1,500 คน เฉลี่ยวันละ 4 คน ในช่วงฤดูร้อนและช่วงปิดเทอม เฉพาะ 3 เดือน มี.ค.-พ.ค. มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงกว่า 500 คน นับเป็นภัยเงียบที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตในกลุ่มเด็ก สาเหตุสำคัญเกิดจากความประมาทของผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้จักวิธีเอาตัวรอด หรือช่วยเหลือไม่ถูกวิธี ซึ่งประชาชนทั่วไปมักเข้าใจว่าการจมน้ำเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ ไม่สามารถป้องกันได้ แต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันและควบคุมได้ ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังและเป็นระบบทั้งภาคการศึกษา ภาคท้องถิ่น การสาธารณสุข รวมถึงประชาชนทุกคนด้วย นางพรรณสิริกล่าว
          ******************** 2 เมษายน 2553
 


   
   


View 11    02/04/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ