รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามพื้นที่ปลอดการดื่มการขายเหล้าในสถานที่ราชการ 17 จังหวัดภาคเหนือ หวังสกัดขี้เมาฉลองสงกรานต์ เผยผลการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ฉบับแรกของไทย พบทำผิดกฎหมาย ตรวจจับแล้ว 223 ราย ส่วนใหญ่เป็นความผิดมาตรา 32 เกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และศาลพิพากษาลงโทษไปแล้วกว่า 70 คดี
วันนี้(2 เมษายน 2553) ที่โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับผู้ว่าราชการ 17 จังหวัดภาคเหนือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สสส. และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เพื่อให้สถานที่ราชการและสวนสาธารณะที่อยู่ในความดูแล เป็นสถานที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551ซึ่งมีผลบังคับใช้มา 2 ปี
ตามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ สถานที่ราชการ ต้องจัดให้สถานที่และสวนสาธารณะที่อยู่ในกำกับดูแล ต้องไม่มีการขาย การดื่ม และห้ามมีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยกรณีที่ยังเลิกขายไม่ได้ ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในร้านค้าหรือสโมสรที่เปิดบริการเป็นประจำหรือถาวร และต้องได้รับอนุญาตจากสถานที่ราชการนั้นๆเท่านั้น โดยห้ามขายให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และให้ขายได้เฉพาะเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ เวลา 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น. มีผลใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้จะถึงอีก 10 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันมากกว่าเทศกาลอื่นๆ และดื่มติดต่อกัน มาตรการลงนามครั้งนี้เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาที่มาจากเมาเหล้าได้
นางพรรณสิริ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีการบริโภคสุรากลั่นมากเป็นอันดับ 5 ของโลกจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งล่าสุด พบว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชนทั้งชายและหญิงมีอายุเฉลี่ยที่เริ่มดื่มเร็วขึ้น โดยในกลุ่มอายุ 15-19 ปี เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่าจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 6 ในเวลา 7 ปี ในกลุ่มเยาวชนชาย อายุ 11-19 ปี มีถึงร้อยละ 21 ที่เริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะเดี่ยวกันข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าจากจำนวนผู้ถูกทำร้ายร่างกาย 15,714รายในปี 2552 พบว่ามีการดื่มเหล้าถึงร้อยละ 45 และจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกที่มีสาเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรอบ 4 ปี ระหว่างพ.ศ. 2543-2547 พบว่ามีอัตราเกิดเพิ่มขึ้นถึง 5เท่าตัวคือจาก 1,811 คดี ใน พ.ศ. 2543 มาเป็น 9,279 คดี ในปี 2547 ในจำนวนนี้เป็นผู้อายุต่ำกว่า 18ปีถึงร้อยละ 44
นางพรรณสิริ กล่าวต่อไปว่า พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 นับเป็นกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับแรกของประเทศไทยที่มีเจตนารมณ์ในการป้องกันควบคุมผลกระทบในทุกมิติที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการเฉพาะ โดยมุ่งเน้นที่การคุ้มครองเยาวชนและประชาชน
ผลการดำเนินงานในรอบ 2 ปีที่ผ่านมามีการออกกฎหมายลูกมาแล้ว 14 ฉบับ และได้ร่างเตรียมการนำเสนอกฎหมายลูกไว้อีก 12 ฉบับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการกลั่นกรองและนำเสนอตามกระบวนการบัญญัติกฎหมาย สำหรับการเฝ้าระวังการกระทำผิดรอบ 2ปี กระทรวงสาธารณสุขได้รับเรื่องร้องเรียน 825 เรื่อง สอบถาม 1,410 เรื่อง ได้ออกตรวจเตือนผู้ค้า 690 ราย ตรวจจับ 223 ราย โดยมีคดีที่ได้กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนไปแล้วกว่า 300 คดี ศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษไปแล้วประมาณ 70 คดี
************ 2 เมษายน 2553