วันนี้ (5 เมษายน 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเรื่องโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลว่า ได้มอบนโยบายให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดทำยุทธศาสตร์ยกระดับสถานีอนามัยขึ้นเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ถือเป็นแผนเร่งรัดที่ต้องการเน้นการรักษาพยาบาลในระบบปฐมภูมิให้มีศักยภาพที่ดี โดยขณะนี้ทั่วประเทศมีสถานีอนามัยจำนวน 9,770 แห่ง จะยกระดับขึ้นเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้งหมด โดยจะทำเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. รูปแบบโรงพยาบาลเดี่ยว จำนวน 2,800 แห่ง  และ 2.เป็นโรงพยาบาลเครือข่ายจำนวน 2,700 เครือข่าย ซึ่ง 1 เครือข่าย อาจประกอบด้วย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2 หรือ 3 แห่ง  รวมทั้งหมด 5,500 กลุ่ม

ในการยกระดับสถานีอนามัยทั่วประเทศขึ้นเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จะใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 8,200 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ปรับปรุงด้านกายภาพของโรงพยาบาล การพัฒนาบุคลากร รวมทั้งความพร้อมด้านอื่นๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้ครบถ้วนทั้ง 5 มิติ ได้แก่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรค การรักษาพยาบาลเบื้องต้น การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค   
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรูปแบบเดี่ยวแต่ละแห่ง จะมีบุคลากรอย่างน้อย 4 ตำแหน่ง  ได้แก่1.เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ 2.นักวิชาการสาธารณสุข 3.แพทย์ หรือพยาบาลเวชปฏิบัติหรือพยาบาลวิชาชีพ และ4.สหวิชาชีพ เช่น ทันตสาธารณสุข เภสัชกร หรือแพทย์แผนไทย ส่วนบุคลากรประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรูปแบบเครือข่ายจะมี 4 ตำแหน่งเหมือนโรงพยาบาลตำบลประเภทเดี่ยวและเพิ่มอีก 3 ตำแหน่งสหวิชาชีพตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยจะของบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งในส่วนของพระราชกำหนด ซึ่งยังมีเงินเหลืออีกส่วนหนึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง  
          นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จะมีความแตกต่างจากสถานีอนามัยเดิมคือ จะมีศักยภาพสูงขึ้น อย่างน้อยจะมีแพทย์ มีพยาบาลเวชปฏิบัติ และมีสหวิชาชีพ รวม 4 ตำแหน่ง ไม่รวมลูกจ้าง มีภารกิจในการประสานงานระบบส่งต่อโรงพยาบาลชุมชน เชื่อมโยงระบบการดูแลสุขภาพที่บ้าน และทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายในการดูแล อสม. ซึ่งจะใช้บุคลากรทั้งหมดประมาณ 30,000 คน  เพื่อทำระบบปฐมภูมิให้เข้มแข็ง และสามารถลดจำนวนผู้ป่วย ที่จะเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลจังหวัดได้มากขึ้น โดยในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่นำร่องไปแล้วประมาณ 1,000 แห่ง จะให้มีการประเมินผลดำเนินการด้วย
**************************   5 เมษายน 2553


   
   


View 13    05/04/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ