สาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชนให้ระวังภัยอาหารในหน้าร้อนและช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อลดความเสี่ยงโรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ไทฟอยด์ โดยเฉพาะอาหาร 8 ชนิด ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ อาทิ อาหารปรุงจากกะทิ อาหารกล่อง อาหารทะเลสด ควรปรุงสุก หลีกเลี่ยงวิธีลวก พล่าสุกๆ ดิบๆ ชี้ผลการวิเคราะห์ผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในปีนี้ พบป่วยแล้วกว่า 3 แสนราย เสียชีวิต 30 ราย โดย 1 ใน 3 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการกินอาหารและน้ำดื่มให้มากกว่าปกติ เพราะเป็นช่วงที่อุณหภูมิเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์และพาหะนำโรค โดยเฉพาะในอาหาร 8 ชนิดที่ต้องใส่ใจเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ อหิวาต์ และไข้ไทฟอยด์ ได้แก่ 1.อาหารปรุงด้วยกะทิ 2.ขนมจีน 3.อาหารทะเลสด 4.อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ก้อย ยำ พล่า 5.อาหารถุง/กล่อง/ห่อ 6.ส้มตำ 7.อาหารค้างคืน และ8.น้ำดื่มและน้ำแข็ง ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สถิติโรคอุจจาระร่วงในปี 2552 ซึ่งมี 1 ล้านกว่าราย เสียชีวิต 108 ราย พบว่าเกิดในผู้สูงอายุได้ประมาณร้อยละ 10 และเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ประมาณร้อยละ 32 ในรอบ 3 เดือนของปี 2553 นี้มีรายงานป่วยแล้วกว่า 3 แสนราย เสียชีวิต 30 ราย กลุ่มที่ป่วยมากที่สุดเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบได้ถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด เนื่องจากเด็กวัยนี้นอกจากจะมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำแล้ว ยังดูแลตัวเองไม่เป็น กินและหยิบอาหารเข้าปากแบบไร้เดียงสา โอกาสติดเชื้อจึงเกิดขึ้นง่าย ดังนั้นพ่อแม่ควรต้องดูแลเด็กใกล้ชิด ในการป้องกันไม่ให้ป่วย ขอแนะนำประชาชนยึดหลักปฏิบัติให้เป็นนิสัยคือ “กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง และต้องล้างมือเป็นประจำ” จะทำให้ทุกคนพ้นจากโรคระบบทางเดินอาหาร ทางด้านมานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ควรกินเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ หากเหลือแล้วไม่ควรเก็บไว้ เพราะจะบูดเน่าง่าย ส่วนเส้นขนมจีนแป้งหมักในหน้าร้อนมักจะเสียง่ายต้องมั่นใจว่าไม่ค้างคืน ผักสดที่กินกับขนมจีนต้องล้างให้สะอาด ในกลุ่มของอาหารทะเลขอให้ปรุงสุก ไม่ควรกินแบบลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะ กุ้ง หอย ปลาหมึก เช่นเดียวกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หมู ไก่ ส่วนประเภทอาหารถุง อาหารกล่องหรืออาหารห่อ ในการบรรจุควรแยกกับข้าวออกจากข้าว หลีกเลี่ยงกับข้าวที่ทำจากกะทิ และควรกินภายในไม่เกิน 3-4 ชั่วโมงหลังจากปรุง สำหรับส้มตำซึ่งเป็นอาหารยอดฮิตทุกฤดูกาล แต่ในฤดูร้อนต้องระวังให้มากเป็นพิเศษ เพราะความไม่ปลอดภัยในส้มตำมีมากมาย อาทิ ปลาร้า ปูดองดิบหรือต้มไม่สุก มะละกอดิบ ผักดิบแกล้ม พริกขี้หนูที่ล้างไม่สะอาดหรือไม่ได้ล้างย่อมมีเชื้อโรคและสารเคมีตกค้าง ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ กุ้งแห้งใส่สีและไม่ได้ล้าง ถั่วลิสงป่นอาจมีเชื้อรา ซึ่งมีสารอะฟลาท๊อกซินก่อโรคมะเร็ง ส่วนครก ไม้ตีพริก และแม่ค้าที่ไม่สะอาด ขาดสุขนิสัยที่ดี ล้วนนำมาซึ่งสารพัดโรค สุดท้ายเรื่องน้ำดื่มและน้ำแข็ง หน้าร้อนคนมักจะดื่มน้ำมากกว่าปกติ หากดื่มน้ำบรรจุขวดขอให้มั่นใจว่ามี อย.รับรอง และเลือกขวดที่มีฝาปิดสนิท ไม่มีรอยเปิด ส่วนน้ำแข็งควรเลือกชนิดบรรจุถุงที่มีเครื่องหมาย อย. และขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านอาหารไม่ควรนำอาหารอื่นไปแช่ในถังน้ำแข็งที่ให้ลูกค้ากิน เพราะจะทำให้น้ำแข็งปนเปื้อนเชื้อโรคได้ นายแพทย์มานิตกล่าว ****************** 15 เมษายน 2553


   
   


View 12    15/04/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ