สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ มุ่งเน้นการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งความ  เป็นเลิศด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย โดยงานกิจกรรมบำบัด สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ  จึงดำเนินการจัดตั้งคลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการกลืนขึ้นในรูปแบบ Model development ในปี พ.ศ.2555          เพื่อรองรับผู้มีภาวะกลืนลำบากที่มีอาการรุนแรง เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องของการกลืนในระยะคอหอย  มีประวัติปอดอักเสบติดเชื้อจากการสำลัก รวมถึงผู้มีความผิดปกติด้านโครงสร้างของใบหน้าและช่องปาก เป็นต้น โดยมีเป้าหมายในการฟื้นฟูเพื่อส่งเสริมความสามารถในการรับประทานอาหารทางปากอย่างปลอดภัย ได้รับสารอาหารและน้ำอย่างเพียงพอและเหมาะสม ลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์ เตรียมความพร้อมผู้ป่วยในการรับการฟื้นฟูสมรรถภาพ  ด้านอื่น ๆ ต่อไป ตลอดจนเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย  

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การให้บริการ ประกอบด้วย            การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการกลืน (Swallowing rehabilitation / training) การให้คำปรึกษา แนะนำการ             ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการกลืนแก่นักกิจกรรมบำบัด ผู้รับบริการ และผู้เกี่ยวข้อง (Counseling & Consultation)   รวมถึงให้ความรู้เบื้องต้นในการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการกลืนที่บ้าน (Swallowing home program) นอกจากนี้ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการกลืนด้วยวิธีการมาตรฐานทางกิจกรรมบำบัดร่วมกับการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย อาทิ   1. Neuromuscular electrical stimulator (NMES) เครื่องกระตุ้นการกลืนด้วยกระแสไฟฟ้า ใช้กระตุ้นกล้ามเนื้อ ที่เกี่ยวข้องกับการกลืนให้เกิดการเรียนรู้การทำงานใหม่ เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ปกติมากที่สุด และชะลอการฝ่อลีบ     ของกล้ามเนื้อ 2. sEMG biofeedback ใช้ฝึกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการกลืน ผ่านการฝึกให้ผู้ป่วยกลืนด้วยตนเองในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนจังหวะ ความแรง สหสัมพันธ์ และความทนทานในการกลืน         โดยมีการแสดงผลข้อมูลป้อนกลับ ทำให้ผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้ และควบคุมการกลืนได้ดีขึ้น                                       

แพทย์หญิงภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เกณฑ์การให้บริการ ในผู้รับบริการที่มีระยะเวลาการเกิดโรค ≤1 ปี จะได้รับความถี่ในการรับบริการ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และผู้รับบริการที่มีระยะเวลาการเกิดโรค > 1 ปี จะได้รับความถี่ในการรับบริการสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยนักกิจกรรมบำบัดในคลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการกลืน ซึ่งเป็นผู้มีความชำนาญและประสบการณ์สูงในด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการกลืน นอกจากนี้คลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการกลืน งานกิจกรรมบำบัด ยังมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพการกลืน ด้วยการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น นำเสนอผลงานวิจัยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ การจัดอบรม สัมมนาแก่บุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง  

 

 

#กรมการแพทย์ #สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ # งานกิจกรรมบำบัด

ขอบคุณ                                                                                                                                                

2 เมษายน 2568



   


View 40    02/04/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์