รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองไทย ให้ระวังเด็กเล็กป่วยจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ผลการศึกษาทั่วโลกล่าสุด พบไวรัสชนิดนี้ทำให้เด็กเป็นปอดบวม หรือปอดอักเสบ เสียชีวิตปีละ 200,000 ราย ขณะในปี 2552 มีเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ราว 1ใน 4 ติดไวรัสชนิดนี้ รวมกว่า 10,000 ราย
จากกรณีที่นิตยสารแลนเซต ประเทศอังกฤษ รายงานผลการศึกษาใหม่ของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระในสก็อตแลนด์ซึ่งเป็นการศึกษาระดับโลกครั้งแรก ค้นพบว่าไวรัสที่มีชื่อว่าอาร์เอสวี (RSV : respiratory syncytial virus) เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการติดเชื้อในปอดของเด็ก ทำให้เกิดโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ คร่าชีวิตเด็กทั่วโลกปีละ200,000 ราย ส่วนใหญ่ร้อยละ 99 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว 33.8 ล้านคน ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 3.4 ล้านคน
นางพรรณสิริ กุลนารถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การศึกษาวิจัยดังกล่าว นับเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากในการพัฒนาสุขภาพเด็กเล็ก โดยเฉพาะการป้องกันโรคปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุการตายของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สูงเป็นอันดับ 1 ของโรคติดเชื้อทั้งหมด จากการเฝ้าระวังการป่วยของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีในปี 2552 พบว่าป่วยจากโรคปอดบวม 53,727 ราย เสียชีวิต 46 ราย โดยเกือบครึ่งหนึ่งติดเชื้อไวรัสหลายชนิด และมีประมาณ 10,000 กว่ารายติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี หรือมีประมาณ 1 ใน 4 ของสาเหตุติดเชื้อทั้งหมด ที่เหลือติดเชื้อแบคทีเรีย
ในการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ที่ดูแลเด็กต่ำกว่า 5 ปีทั่วประเทศให้มีคุณภาพ ไม่ให้เป็นแหล่งแพร่โรคติดเชื้อทุกชนิด โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม เนื่องจากจะติดต่อกันง่าย เพราะเด็กวัยนี้ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เมื่อมีเด็กป่วย 1 คน ก็อาจจะลุกลามไปได้ทั้งศูนย์ โดยมาตรการสำคัญในการป้องกันคือการล้างมือให้เด็กเล็กบ่อยๆ และพี่เลี้ยงเด็กก็ต้องล้างมือบ่อยๆเช่นกัน เมื่อมีเด็กป่วย หากเป็นไปได้ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน แต่หากไม่สามารถรับกลับบ้านได้ ให้แยกเด็กและแยกเครื่องใช้ของเด็กป่วย ออกจากเด็กปกติ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค
นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไวรัสอาร์เอสวี ทำให้เกิดโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบและโรคระบบทางเดินหายใจ สามารถติดเชื้อได้โดยตรงและเกิดเป็นโรคแทรกซ้อนรุนแรงในกลุ่มทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือมีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด ในประเทศไทยพบโรคนี้ได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนกรกฎาคม กันยายน อาการของโรคจะเริ่มจากเด็กเป็นไข้หวัดธรรมดาก่อน อาจมีไข้ต่ำๆ ไอ มีน้ำมูก แต่ต่อมาไข้จะสูงขึ้น หายใจลำบาก เด็กจะซึมลง ไม่กินน้ำ ไม่กินนม มีไข้สูง ไอ หายใจหอบเร็วและมีเสียงหวีดหรือฮื๊ด ซึ่งเป็นสัญญาณของอาการปอดบวมต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้
นายแพทย์มานิตกล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคหวัด โรคปอดบวม ปอดอักเสบ ต้องเพิ่มภูมิต้านทานธรรมชาติให้แก่เด็ก โดยให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เด็กจะได้รับภูมิต้านทานจากแม่ผ่านทางน้ำนม เด็กจะไม่ป่วยง่าย ดูแลเด็กให้มีร่างกายแข็งแรง ล้างมือให้เด็กบ่อยๆ หลีกเลี่ยงพาเด็กไปในสถานที่แออัด ไม่พาเด็กไปใกล้คนป่วยหรือผู้ที่กำลังเป็นหวัด เด็กที่เลี้ยงในห้องแอร์ หรืออยู่ในที่มีอากาศเย็นเช่นในฤดูฝนหรือฤดูหนาว ขอให้ดูแลความอบอุ่น ใส่เสื้อผ้าหนาๆ โดยสามารถขอรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเด็กจากกรมควบคุมโรค ที่หมายเลข 02-590-3183 หรือ 02-590 -3185 ในวันเวลาราชการ
******** 25 เมษายน 2553
View 15
25/04/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ