ดึงองค์กรท้องถิ่นมาร่วมแก้ปัญหาสุขภาพชุมชน ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและประชาชนผู้รับบริการในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งได้ให้สิทธิรักษาพยาบาลฟรีในโรคที่สำคัญ รวมทั้งโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงช่วยลดภาระให้ประชาชน เช่นโรคเอดส์ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งโรคทางจิตเวชที่มีการขยายสิทธิ์การรักษาอย่างไม่จำกัดจำนวนวันรักษา พบว่าขอบข่ายการให้บริการสิทธิประโยชน์ในภาพรวม มีความก้าวหน้าไปมากเป็นที่พอใจของประชาชน อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัญหาที่ต้องปรับปรุงในอนาคต เช่นการประสบปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาลขนาดเล็กที่มีประชากรน้อย ทำให้ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพ จะต้องมีการปรับระบบการบริหารจัดการ ว่าค่าใช้จ่ายขั้นต่ำควรจะเป็นเท่าไร ซึ่งนอกจากจะจัดสรรงบรายหัวแล้ว อาจจะมีงบประมาณอีกก้อนหนึ่งไปช่วยด้วย ส่วนปัญหาที่ภาคเหนือที่มีโรงพยาบาลชายแดน ที่มีคนไร้สัญชาติมาใช้บริการ ได้แก้ไขปัญหาให้แล้ว โดยเสนอครม.จัดงบช่วยเหลือในปีงบประมาณ 2553 ครึ่งปี จำนวน 427 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2554 ได้ตั้งไว้ในงบปกติแล้ว
 
  
 
  
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องกองทุนสุขภาพตำบล ขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอบต./เทศบาล จัดงบประมาณจากท้องถิ่นมาสมทบตั้งกองทุน โดยยึดหลักให้อบต.สมทบทุนไม่น้อยกว่า 20เปอร์เซ็นต์เทศบาลสมทบไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วน สปสช.จะสมทบ 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้มี อบต./เทศบาลเข้าร่วมแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 5,000 แห่ง ที่เหลืออีกประมาณ 1,000 แห่งจะเร่งดำเนินการทั้งหมด ซึ่งเงินในกองทุนดังกล่าวจะมี่ส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชน ช่วยให้การดำเนินงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและงานอสม.เดินหน้าได้เร็ว แต่ที่ยังมีปัญหาอยู่คือคณะกรรมการกองทุน ซึ่งเดิมระบุว่าประธานต้องเป็นนายกอบต.และเลขานุการต้องเป็นปลัดอบต. ซึ่งในที่ประชุมได้เสนอว่าควรเปิดกว้างเป็นไปตามความเหมาะสมพื้นที่ ได้ให้สปสช.พิจารณาปรับปรุงระเบียบให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน   
                  
 
ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาสถานีอนามัยให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จะเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม ในปีนี้จะดำเนินการ2,000 แห่ง ใช้งบจากโครงการไทยเข้มแข็งที่อยู่ในพระราชกำหนด จำนวน 1,500 ล้านบาท ในปี 2554 ใช้งบปกติอีก 6,000 ล้านบาท พร้อมทั้งมีเงินอุดหนุนให้โรงพยาบาลละ 500,000-900,000  บาท ตามขนาดประชากรรับผิดชอบ ซึ่งจะดีเดย์บริการประชาชนได้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2553
  
 
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ในส่วนการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขระบบใหญ่ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งที่ยังไม่ลงตัวทั้งในเรื่องสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ ขณะนี้ได้ข้อสรุปพร้อมดำเนินการเดินหน้าไปแล้ว โดยได้มีการปรับลดราคาค่าก่อสร้างให้เหมาะสม ยกเลิกครุภัณฑ์ที่มีปัญหาบางรายการ รวมทั้งการกระจายงบประมาณไม่ให้มีการกระจุกตัว และเพิ่มงบประมาณให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ เป็นที่พอใจและยอมรับของทุกฝ่ายเรียบร้อยแล้ว เมื่อ ครม.อนุมัติงบดังกล่าว ก็จะมารถดำเนินการจัดจ้างได้ทันที คาดว่าจะเริ่มในสัปดาห์หน้านี้
  ****************************************    14 พฤษภาคม 2553     


   
   


View 6       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ