สาธารณสุขประกาศเดินหน้าเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุปัญหาสุขภาพในชุมชนโดยใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ในปีนี้อย่างน้อย 8 เรื่อง ได้แก่ ไข้เลือดออก เอดส์ เบาหวาน-ความดันโลหิตสูง การดูแลความปลอดภัยอาหาร ขยะชุมชน อนามัยแม่และเด็ก สุขภาพวัยเรียน/วัยรุ่น และสุขภาพผู้สูงอายุ โดยตั้งเป้าพัฒนาให้มีโรงเรียนนวัตกรรมสุขภาพชุมชนเป็นต้นแบบอย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้เจ้าหน้าที่/ผู้นำชุมชน

วันนี้ (27 พฤษภาคม 2553) ที่โรงแรมพีรญา รีสอร์ท แอนด์สปา อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขระดับกรม และจังหวัดใน 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อชี้แจงนโยบายการดำเนินงานแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ของอาจารย์อมร นนทสุต และทีมงาน เพื่อขับเคลื่อนให้ทุกจังหวัดได้ดำเนินการโดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคิด ทำ และตรวจสอบเพื่อลดปัญหาในพื้นที่ ในปี 2553 นี้เป็นปีแห่งการเริ่มต้นของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งจะเน้นหนักในเรื่องการลดปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชนเป็นงานหลัก  และมีบริการตรวจรักษาโรคเบื้องต้นเพื่อลดความแน่นแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล   
 
          ดร.นพ.สมยศ กล่าวว่า ในปี 2553 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนปฏิบัติการงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของชุมชน ท้องถิ่น ที่อยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2,000 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนอย่างน้อย 8 เรื่อง ได้แก่ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคเอดส์ 3.โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง 4.การดูแลความปลอดภัยอาหารบริโภคและโภชนาการในพื้นที่เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภค 5.การจัดการปัญหาขยะในชุมชนไม่ให้ก่อผลกระทบต่อสุขภาพ 6.งานอนามัยแม่และเด็ก 7.งานดูแลสุขภาพวัยเรียน วัยรุ่น และ 8.การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ในบางแห่งอาจเพิ่มเติมได้ตามสภาพปัญหาสาธารณสุขที่มีเฉพาะในพื้นที่ เช่น ภาคใต้ มีโรคไข้ปวดข้อหรือโรคชิคุนกุนยา เป็นต้น
 
ทั้งนี้จะให้สาธารณสุขจังหวัดคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นโรงเรียนนวัตกรรมสุขภาพชุมชน ที่มีความเป็นเลิศในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายเรื่องใน 8 เรื่องที่กำหนด ให้ได้อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง   เพื่อเป็นต้นแบบของพื้นที่ และเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชนต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ขยายผลในพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลง
 
           ดร.นพ.สมยศ กล่าวต่อว่า ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะนำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ซึ่งใช้ได้ผลดีในต่างประเทศ มาเป็นเครื่องมือบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างกลไกการทำงานในทุกระดับ ตั้งแต่กระทรวง กรมวิชาการต่างๆ มาเชื่อมกับระดับจังหวัด โดยให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงานไปยังอำเภอ ตำบลและท้องถิ่น โดยเฉพาะรพ.สต. เชื่อมโยงกับการใช้งบประมาณซึ่งมีแหล่งเงินทุนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนในท้องถิ่นมีภาคีพันธมิตรสนับสนุนที่เข้มแข็ง มีการบริหารจัดการที่ดีพร้อมที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกันได้
 
 ************************************* 27 พฤษภาคม 2553


   
   


View 6       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ