กระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการประหยัดพลังงานลดภาวะโลกร้อน ให้ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนใช้หลอดประหยัดไฟเบอร์ 5 กว่า 16,000 หลอด ลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าหลอดละ 100 บาทต่อปี พร้อมขยายผลปี 54 จะเปลี่ยนระบบทำน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรพ.ชุมชน 84 แห่งทั่วประเทศ
วันนี้ (15 มิถุนายน 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เสรี หงษ์หยก รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดอบรมข้าราชการเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประมาณ 300 คน เรื่องการประหยัดพลังงานของส่วนราชการ เพื่อลดภาวะโลกร้อน ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 และพระราชกฤษฎีกากำหนดอาคารควบคุม พ.ศ.2538 ที่กำหนดให้ทุกหน่วยงานต้องดำเนินการ
นายแพทย์เสรีกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งสนองนโยบาย “ประหยัดพลังงานลดโลกร้อน (Save Energy Save the World)” ของรัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่ให้ข้าราชการทุกกระทรวง รวมถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระ ร่วมมือกันลดภาวะโลกร้อนด้วยการประหยัดพลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนซึ่งในปี 2553 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดโครงการประหยัดพลังงานโดยร่วมมือกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยนำร่องเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าทั้งตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จากแบบเก่าประมาณ 16,000 หลอด มาเป็นหลอดประหยัดพลังงานหรือหลอดประหยัดไฟเบอร์ 5 แทนทั้งหมด โดยคุณภาพความสว่างของแสงเป็นไปตามมาตรฐาน ไม่ส่งกระทบต่อการใช้สายตาในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานได้ร้อยละ 22 - 30 ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 57 - 100 บาทต่อหลอด รวมแล้วจะลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าลงได้ปีละประมาณ 1.5 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนหลอดไฟซึ่งคิดเป็นเงินประมาณชุดละ 300-400 บาท หากลงทุนเองจะคุ้มทุนภายใน 5 – 7 ปี และในปีต่อไปก็จะขยายผลไปยังหน่วยงานในสังกัดทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค
นายแพทย์เสรีกล่าวต่อว่า ในปี 2554 กระทรวงสาธารณสุขยังได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ในการนำพลังงานทดแทนมาใช้แทนการใช้ไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิง ติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ นำร่องในโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ทุรกันดารจำนวน 84 แห่งทั่วประเทศ และขยายผลให้ได้ 400 แห่งในปีเดี่ยวกัน เพื่อใช้ในการบริการผู้ป่วย เช่น ใช้อาบน้ำให้ทารกแรกเกิดหรือผู้ป่วยอื่น ทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ การซักล้างเสื้อผ้าของใช้ต่าง ๆ ของผู้ป่วย การใช้น้ำร้อนสำหรับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาลในโรงพยาบาล ซึ่งจะส่งผลให้ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงของประเทศและเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นายแพทย์เสรีกล่าวต่อว่า การจัดแสงสว่างในสถานที่ทำงาน มีความสำคัญต่อผู้ปฏิบัติงาน โดยทั่วไปต้องมีความเข้มของแสงสว่าง 400 ลักซ์ หากแสงสว่างมากหรือน้อยเกินไป จะมีผลเสียต่อตา ทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานมากเกินไป ทำให้ปวดตา มึนศีรษะได้ วิงเวียนศีรษะ ประสิทธิภาพและขวัญกำลังใจในการทำงานลดลง ก่อให้เกิดผลทางจิตใจ คือเบื่อหน่ายในการทำงาน ขวัญและกำลังใจในการทำงานลดลง
************************************ 15 มิถุนายน 2553