ชี้ขณะนี้ไทยเดินหน้าทั้งเรื่องโรงพยาบาลลดโลกร้อน  ส้วมสาธารณะสะอาด ตลาดสดได้มาตรฐาน พร้อมจะเดินหน้าทำน้ำประปาดื่มได้ต่อ  

              วันนี้ (15 กรกฎาคม 2553) ที่เมืองเจจู สาธารณรัฐเกาหลี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์  วราชิต  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย ร่วมประชุมรัฐมนตรีระดับภูมิภาคว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 2(The Second Ministerial Regional Forum on Environment and Health in Southeast and East Asian Countries)14ประเทศ ประกอบด้วย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน มองโกเลีย พม่า ลาว เวียดนาม บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา และไทย

นายจุรินทร์กล่าวปราศรัยในการประชุมว่า ประเทศไทยเริ่มใช้แผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 1หลังการประชุมรัฐมนตรีระดับภูมิภาคว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 1ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2550 ซึ่งแผนนี้ได้รับอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีในปี 2552ไทยได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์นี้เป็นต้นมาซึ่งประกอบด้วยเรื่องทรัพยากรน้ำ มลพิษทางอากาศระดับภูมิภาคและระดับโลก การพัฒนาอนามัยสุขาภิบาล และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ โดยได้บูรณาการเข้ากับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ด้วย
นายจุรินทร์กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาความร่วมมือในเรื่องทรัพยากรน้ำ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของแหล่งน้ำ ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างมากจากสภาพภูมิอากาศและการเพิ่มขึ้นของประชากร โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องมลพิษทางอากาศในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเพิ่มของประชากร การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ และการแพร่กระจายของโรคติดต่อ จึงจำเป็นต้องร่วมมือทั้งในระดับประเทศและอนุภูมิภาค ประเทศไทยได้ทำกิจกรรมภายใต้กลไกข้อตกลงของอาเซียน เรื่องการจัดการด้านมลพิษและหมอกควันที่กระจายข้ามประเทศซึ่งไทยยังได้ร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเพื่อลดภาวะโลกร้อนด้วย 
ด้านการพัฒนาสุขาภิบาลนั้น ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการสุขาภิบาลที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีโครงการโรงพยาบาลลดโลกร้อน (green and clean hospital) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยส่งเสริมให้โรงพยาบาลนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลกว่า 600 แห่งเข้าร่วมโครงการ อีกทั้งสนับสนุนให้ภาคส่วนอื่นๆ เช่น โรงเรียน วัด ปั๊มน้ำมัน สถานีรถประจำทาง จัดการให้มีส้วมสาธารณะสะอาดได้มาตรฐานที่ประชาชนเข้าถึงได้ นอกจากนี้ยังมีโครงการ “ตลาดสด น่าซื้อ” และโครงการอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (clean food good taste) รวมทั้งการเตรียมการเรื่องน้ำประปาดื่มได้
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า สำหรับการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นนั้น ประเทศไทยยินดีที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิก พร้อมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ โดยมีคณะทำงานด้านนี้ในระดับประเทศ
“ประเทศไทยพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานตามปฏิญญาเจจูว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและอนามัย  ยินดีที่จะรับผิดชอบอย่างสุดความสามารถเพื่อบรรลุถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการพัฒนาแห่งสหัสวรรษเพื่อสุขภาพ (MDG) โดยการเสริมสร้างพันธมิตรและความร่วมมือในภูมิภาค ซึ่งเป็นการรวมพลังทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค เพิ่มศักยภาพในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและอนามัย เพื่อที่จะทำให้สิ่งต่างๆบรรลุเป้าหมาย” นายจุรินทร์กล่าว
 *************************************** 15 กรกฎาคม 2553
 
 


   
   


View 10       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ