สาธารณสุข จัดทำโครงการทำความดี ระดมอสม.ทั่วประเทศ แจกใบสั่งตัวเองทำความดี ให้คนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไป 30 ล้านคน เลือกทำตลอดช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน เพื่อสร้างสุขภาพดีให้ตัวเอง เช่น คุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย งดเหล้าบุหรี่ หวังปลูกฝังวิถีชีวิตใหม่ต่อสู้กับ“โรควิถีชีวิต” ที่กำลังระบาดหนักในไทย ผลการตรวจสุขภาพคนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไปในปี 2552 พบป่วยโดยที่เจ้าตัวไม่รู้นับล้านคน กำลังจะป่วยเพิ่มอีกกว่า 4 ล้านคน คาด 2 โรคนี้ จะฉุดรายได้ประเทศไทยสูญกว่า 5 หมื่นล้านบาทในอีก 5 ปี

                                                                             
           บ่ายวันนี้ (19 กรกฎาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ไพจิตร์  วราชิต  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) แถลงข่าว“โครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวง ทรงห่วงใยสุขภาพประชาชน” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสปสช.ดำเนินการระหว่าง พ.ศ. 2552 - 2554 เพื่อค้นหาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ซึ่งเป็น 2 โรคอันดับต้นที่กำลังระบาดรุนแรงในกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป ที่มีวิถีชีวิตที่ไม่ถูกต้องโดยเฉพาะพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย เพื่อควบคุมป้องกันโรคครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศ และให้การดูแลอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง ทั้งผู้ที่ยังไม่เป็นโรค ผู้ที่มีสัญญาณผิดปกติกำลังเสี่ยงจะป่วยและผู้ที่ป่วยแล้ว    
 
 
            นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยมีแนวโน้มป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือที่เรียกว่าโรควิถีชีวิต เช่น โรคหัวใจขาดเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์อัมพาตเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เพิ่มภาระครอบครัวในการดูแล รวมถึงการพัฒนาประเทศ เนื่องจากขาดกำลังแรงงานที่มีคุณภาพจากประชาชนเจ็บป่วยมากจึงทำงานได้ไม่เต็มที่ ในปี 2549 ไทยสูญเสียรายได้จากผลผลิตประชาชาติหรือจีดีพี (GDP) เพราะโรคหัวใจ อัมพาต และเบาหวาน ราว 4,200 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2558 คาดจะเพิ่มเป็น 52,150 ล้านบาท
 
               นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาที่จะเริ่มในวันที่ 27 กรกฎาคม – 23 ตุลาคม 2553 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการรวมพลคนรักสุขภาพ ทำดีเข้าพรรษา เป็นกิจกรรมเสริมโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวง ทรงห่วงใยสุขภาพประชาชน เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนไทยทุกคนหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองโดยใช้วันเข้าพรรษาเป็นฤกษ์ดีเพื่อเริ่มต้น สืบสานตามแนวทางศาสนาก็คือการไม่โรคเป็นลาภอันประเสริฐ
 
ตามโครงการดังกล่าว จะให้ อสม.ทั่วประเทศที่มี 970,000 คน เดินเคาะประตูบ้านแจกใบสั่งตนเองในการทำความดีเข้าพรรษาด้วยการสร้างสุขภาพ ซึ่งได้จัดพิมพ์จำนวน 30 ล้านใบ แจกให้ประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป โดยอสม. 1 คน แจกให้กลุ่มที่ดูแล 9 คน ในใบสั่งทำความดีมีทั้งหมด 9 ข้อ ได้แก่ 1.การตั้งใจลดน้ำหนักตัวเอง โดยให้ระบุน้ำหนักที่ต้องการลดในช่วง 3 เดือน ซึ่งการลดน้ำหนักที่ดีไม่ควรเกินสัปดาห์ละ 1 กิโลกรัม 2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 3 วันต่อสัปดาห์ครั้งละ 30 นาที 3.กินผักผลไม้ทุกมื้อ 4.กินข้าวกล้องทุกมื้อ 5.ลดการกินหวาน มัน เค็ม 6.กินเจหรือมังสวิรัติทุกวันพระหรือวันเกิด ตลอดช่วงเข้าพรรษา 7.ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม/น้ำที่มีรสหวาน 8.งดเหล้า และ/หรืองดบุหรี่ 9. สวดมนต์ไหว้พระ หรือปฏิบัติตามหลักศาสนามอย่างเคร่งครัด และทำจิตใจให้สงบ โดยเลือกทำกี่ข้อก็ได้ตามความพร้อม มีอสม.ช่วยแนะนำการปฏิบัติตัวและติดตามผลทุกเดือน และจะประเมินบุคคลต้นแบบทำดีเข้าพรรษาเมื่อครบ 3 เดือน มั่นใจว่าการรณรงค์ครั้งนี้จะช่วยให้การป้องกันควบคุมโรคเรื้อรังได้ผลดียิ่งขึ้น คาดจะสามารถลดการสูญเสียจีดีพีได้ร้อยละ 10-20
 
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน“โครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวง ทรงห่วงใยสุขภาพประชาชน” ในปี 2552 ได้ตรวจสุขภาพประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไปจำนวนกว่า 20 ล้านคน ผลการตรวจน่าตกใจ พบผู้ที่เพิ่งป่วยเป็นโรคเบาหวานแต่ยังไม่รู้ตัว  353,189 คน และพบผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าค่าปกติคือ120 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากไม่ดูแลตัวเอง ก็จะมีความเสี่ยงจะป่วยเป็นเบาหวานสูง 1.7 ล้านคน และพบผู้ที่เพิ่งป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงแต่ยังไม่รู้ตัว 651,867 คน และยังมีผู้ที่มีความดันสูงกว่าเกณฑ์ปกติ เสี่ยงจะป่วยอีก 2.4 ล้านกว่าคนส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงแล้ว พบร้อยละ 6-10 มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นอีกรวมทั้งหมด 2 แสนกว่าคน เนื่องจากปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ไม่ดี เช่นตาต้อกระจก ต้อหิน โรคหัวใจ ไตวาย เป็นต้น ซึ่งบั่นทอนทั้งคุณภาพชีวิต และทำให้เสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควรเร็วขึ้น      
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่า ตลอดปี 2553 กระทรวงสาธารณสุข จะเน้นหนักจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนระบบบริการดูแลและพฤติกรรมประชาชนไทยขนานใหญ่ โดยให้สถานพยาบาลทุกแห่งตั้งคลินิกว่า 10,000 แห่ง เพื่อดูแลผู้ที่ป่วยเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงไม่ให้มีโรคแทรกซ้อน ดูแลคนที่มีความเสี่ยงไม่ให้กลายเป็นคนป่วย โดยคลินิกดังกล่าวจะเน้นการให้ความรู้เรื่องอาหาร การออกกำลังกายซึ่งสามารถลดความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงด้วย โดยให้ออกค้นหาผู้ป่วยทั้ง 2 โรคอย่างต่อเนื่องในกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไปให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของเป้าหมาย โดยสปสช. สนับสนุนงบดำเนินการ 64 ล้านบาท
  ************************************ 19 กรกฎาคม 2553


   
   


View 7       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ