วันนี้(29 กรกฎาคม 2553)ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กรุงเทพมหานคร นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายโทโมโอะ โฮซูมิ ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ศาสตราจารย์เครสเวลล์ อีสแมน รองประธานสภานานาชาติเพื่อการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนและผู้ประสานงานภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก และ แพทย์หญิงมอรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง โรคขาดสารไอโอดีนกับความท้าทายต่อการพัฒนาของประเทศไทย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องโรคขาดสารไอโอดีนมีทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่1.หญิงตั้งครรภ์ยังขาดไอโอดีนอยู่ประมาณ 480,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกตั้งไว้ 2.ความครอบคลุมของการใช้เกลือผสมไอโอดีนในครัวเรือนลดลง ในปี 2551มีครัวเรือนไทยที่บริโภคเกลือเสริมไอโอดีนร้อยละ 82 แต่ในปี 2552ลดลงเหลือร้อยละ 77 ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานคือต้องมากกว่าร้อยละ 90, 3.การรับรู้ของคนไทยเรื่องไอโอดีนยังไม่ทั่วถึงครอบคลุม คนไทยส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่าหากขาดไอโอดีนแล้วจะทำให้เป็นโรคคอพอก แต่มีส่วนน้อยที่ทราบว่าไอโอดีนมีผลต่อไอคิวเด็ก และ4.การแก้ปัญหาการขาดไอโอดีน ขาดความต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยป้องกันการขาดไอโอดีนได้ดีเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก และหลายประเทศ แต่ในช่วงหลังการดำเนินการนั้นขาดการต่อเนื่องและขาดการทำงานในเชิงบูรณาการ
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้จากผลการสำรวจไอคิวของคนไทย โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เมื่อปี 2552 จากกลุ่มตัวอย่าง 6,000ราย  ใน 21จังหวัด พบไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 91ซึ่งค่อนข้างต่ำ โดยไอคิวเฉลี่ยสากลอยู่ที่ 90 110 จึงต้องเร่งแก้ปัญหาแบบองค์รวม จะต้องมีการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนดให้เกลือเพื่อการบริโภคจะต้องมีไอโอดีนผสมปริมาณไม่น้อยกว่า 30มิลลิกรัมต่อเกลือ 1กิโลกรัม โดยจะบังคับใช้อย่างจริงจังควบคู่ไปกับการออกกฎระเบียบเพิ่มเติม
ทั้งนี้จากการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติ ได้สนับสนุนให้มีการใส่ไอโอดีนในอาหารที่คนไทยบริโภคเป็นประจำทุกวัน เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว รวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ในส่วนของกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ โดยจะให้องค์การเภสัชกรรม ผลิตไอโอดีนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ในกลุ่มเด็กแรกเกิดจะมีการตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ว่ามีปริมาณที่เพียงพอหรือไม่ หากพบว่ามีปัญหา ก็จะให้ยาหรือรักษาทันทีโดยไม่ต้องรอการตรวจซ้ำ และกลุ่มเด็กเล็กจนถึงกลุ่มประชาชนทั่วไป แก้ปัญหาโดยส่งเสริมให้บริโภคเกลือผสมไอโอดีนในปริมาณที่เพียงพอพร้อมรณรงค์ให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเกลือไอโอดีน
สำหรับพื้นที่เสี่ยงที่ขาดไอโอดีนอย่างรุนแรงเบื้องต้นพบว่ามี 9จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ระยอง พิจิตร มหาสารคาม น่านอำนาจเจริญ อุดรธานี หนองคาย และนครปฐมได้ให้กรมอนามัยลงไปสำรวจถึงระดับตำบลและหมู่บ้าน เพื่อวิจัยจัดทำข้อมูลพื้นฐาน ประเมินสถานการณ์ไอโอดีนของแต่ละพื้นที่เพื่อวางมาตรการแก้ไขและติดตามประเมินผลต่อไป        
    ..........      29 กรกฎาคม 2553


   
   


View 4       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ