รักษาชีวิตผู้ป่วย พร้อมรณรงค์คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3 ลด คือ ลดน้ำหนัก ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ลดอบายมุข บุหรี่ เหล้า บวกออกกำลังกาย ป้องกันไม่ให้เป็นโรค
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดโครงการ “พร้อมทุกนาที ช่วยชีวีจากโรคหัวใจ” ที่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา สาขารัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี ว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ต้องการเห็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันได้รับการดูแลรักษาที่ทันท่วงที เพื่อป้องกันไม่ให้เสียชีวิต เพราะว่าอัตราชีวิตจากโรคนี้ของคนไทยสูงมากถึงร้อยละ 12.6 ขณะที่ต่างประเทศมีอัตราการเสียชีวิตเพียงร้อยละ 4.9 เท่านั้น ซึ่งไทยสูงกว่าต่างชาติถึง 3 เท่า จึงเป็นที่มาของโครงการที่จะช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยให้ทันท่วงที ซึ่งวิธีการรักษาทางการแพทย์มีตั้งแต่การให้ยาสลายลิ่มเลือด การทำบอลลูน และการผ่าตัด กระบวนการทั้งหมดนี้จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้
นายจุรินทร์กล่าวว่า ประเด็นปัญหาขณะนี้ ทำอย่างไรจะให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการที่จะเข้ามารับการรักษาอย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันต้องให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันไม่ให้เป็นโรคหัวใจด้วย ซึ่งวิธีที่ทราบกันในหลักสากลคือต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการบริโภค ต้อง 3 ลด ได้แก่ ลดน้ำหนัก ลดอาหารที่เป็นอันตรายโดยเฉพาะอาหารหวาน มัน เค็ม ลดอบายมุข โดยเฉพาะเหล้า บุหรี่ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าทำใน 3 ส่วนนี้ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย ก็จะมีส่วนช่วยให้โอกาสความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจน้อยลง เป็นสิ่งที่ต้องการรณรงค์บอกประชาชนทั่วไปให้ปฎิบัติให้ได้ตามนี้ ถ้าทำได้ทั้งหมด นอกจากลดความเสี่ยงโรคหัวใจแล้ว ยังลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งโรคอ้วนด้วย
สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขต้องทำต่อไปคือการพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันให้เข้าถึงบริการได้ทันท่วงที ซึ่งขณะนี้มีสถาบันโรคทรวงอกที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ต่อไปจะพยายามพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลในสังกัด สามารถให้บริการเหมือนสถาบันโรคทรวงอกด้วย ซึ่งขณะนี้มีกระจายอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลสวนดอก โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลพุทธ-ชินราชพิษณุโลก โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลราชวิถี เป็นต้น แต่ยังไม่สามารถให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับงบไทยเข็มแข้งที่จะพัฒนาระบบสาธารณสุข จะใช้ปรับปรุงศักยภาพของสถานพยาบาลทุกสังกัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในส่วนรับผิดชอบดูแลของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2553-2554 ได้งบรวม 35,000 ล้านบาท ถือเป็นงบพิเศษในการพัฒนาโรงพยาบาลทุกระดับ จะมีส่วนช่วยศักยภาพโครงการ รักษาโรคหัวใจหลอดเลือดเฉียบพลันด้วย โดยสถาบันโรคทรวงอกต้องเป็นต้นแบบอบรมเพิ่มพูนศักยภาพของแพทย์ที่อยู่ในต่างจังหวัด ให้สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกัน
สำหรับเรื่องสเตนท์ที่กรมบัญชีกลางได้สั่งปรับลดราคา ให้เท่ากับราคาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ในเรื้องนี้ได้มอบให้อธิบดีกรมการแพทย์ไปช่วยดูว่า ทิศทางที่ควรจะเป็น ควรเป็นอย่างไร และมีผลกระทบต่อของเดิมที่โรงพยาบาลได้จัดซื้อไว้แล้วหรือไม่ และให้ประสานความเห็นเพิ่มเติมไปที่กรมบัญชีกลางต่อไป เพราะว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใช้ระบบการจัดซื้อสเตนท์แบบรวม ทำให้ได้ราคาถูกลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ซื้อในราคาที่แพงขึ้น เพียงแต่ว่าโรงพยาบาลในสังกัดอื่นที่จัดซื้ออาจจะไม่ได้ซื้อคราวละจำนวนมาก ทำให้ราคามีความแตกต่างกัน แต่ในเรื่องคุณภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องคำนึงเป็นอันดับหนึ่ง ก่อนแข่งขันราคา หากไม่มีคุณภาพก็ไม่สามารถเปิดประมูลได้
......................................... 29 กรกฎาคม 2553