ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตือนภัยเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระวังเป็นโรคปอดบวม แนะหากมีเด็กป่วยเป็นไข้หวัด 1 สัปดาห์ แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรง ยังมีไข้สูง ไอ หายใจหอบ ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที ชี้โรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 ของโรคติดเชื้อทั้งหมด ปีนี้พบเด็กป่วยแล้วกว่า 3 หมื่นคน เสียชีวิต 17 คน สาเหตุเกิดจากเชื้อโรคหลายชนิด กลุ่มเด็กที่เสี่ยงต้องใสใจพิเศษ 4 กลุ่ม ได้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ เด็กขาดสารอาหาร น้ำหนักตัวน้อย และเด็กที่เป็นหัวใจพิการแต่กำเนิด หากป่วยอาการจะรุนแรง ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากสภาพที่มีฝนตกชุก ในช่วงนี้ อากาศมีความชื้นสูง จะทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจได้ง่าย ที่น่าห่วงก็คือโรคปอดบวม ซึ่งโรคนี้เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อทั้งหมด มักพบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน และพบได้บ่อยในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในแต่ละปีมีเด็กทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคปอดบวมกว่า 2 ล้านคน สำหรับประเทศไทยจากการเฝ้าระวังโรคในปี 2552 ทั่วประเทศมีเด็กป่วย 62,852 คน เสียชีวิต 60 คน ในปี 2553 ตั้งแต่เดือนมกราคม – กรกฎาคม พบเด็กป่วยแล้ว 32,925 คน เสียชีวิต 17 คน ดร.พรรณสิริกล่าวว่า ขอให้ผู้ปกครองระมัดระวังดูแลเด็กๆอย่างใกล้ชิดในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะเด็ก 4 กลุ่ม ขอให้ดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ เด็กที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย เด็กขาดสารอาหาร และเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เพราะหากป่วยเป็นโรคปอดบวมแล้วจะมีอันตรายมาก อาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าเด็กปกติทั่วไปมาก ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคปอดบวมเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อได้หลายชนิด เช่นแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ซึ่งเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อที่ปอดโดยตรง หรือเกิดตามหลังอาการหวัดหรือเชื้อไปตามกระแสเลือดจากการป่วยมาก่อน โดยสาเหตุของโรคปอดบวมในเด็ก เกือบครึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสเช่นกลุ่มไข้หวัดใหญ่ ที่เหลือเป็นแบคทีเรีย ที่พบบ่อยคือเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนอี (Streptococcus pneumoniae) และฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae ) ซึ่งบางครั้งอาจเกิดเป็นภาวะแทรกซ้อนร่วมกันได้ หากเด็กเล็กไม่สบาย พ่อแม่จะต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กยังไม่สามารถบอกอาการได้เหมือนผู้ใหญ่ วิธีการดูแลเด็กที่เป็นหวัด ขอให้เด็กดื่มน้ำหรือกินนมบ่อยๆ ให้เด็กนอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่ย่อยง่าย หากมีไข้ให้เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำธรรมดา และอาจให้กินยาลดไข้พาราเซตามอล นายแพทย์มานิตกล่าวต่อว่า โดยปกติเด็กที่เป็นหวัดเกือบทั้งหมด เกิดจากเชื้อไวรัส อาการจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ โดยหลังจากวันที่ 3 อาการควรจะเริ่มดีขึ้น ไข้ลดลง อาจไอต่อไปได้อีก 1-2 สัปดาห์ แต่หากเด็กยังไม่ดีขึ้น และมีอาการต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสัญญานของอาการปอดบวม ได้แก่ มีไข้สูง เด็กมีอาการซึมลง ไม่กินน้ำกินนม ไอมีเสมหะ หายใจหอบเร็ว หรือหายใจมีเสียงดังฮื๊ดหรือเสียงหวีด หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที เพื่อรักษาตั้งแต่ระยะแรก อันตรายต่างๆจะน้อยลง ทั้งนี้ประชาชนสามารถเพิ่มภูมิต้านทานโรคให้เด็กได้ตามธรรมชาติ โดยให้หญิงหลังคลอด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ติดต่อกัน 6 เดือน เด็กจะได้รับภูมิต้านทานจากแม่ผ่านทางน้ำนม จะไม่เจ็บป่วยง่าย ส่วนการป้องกันโดยทั่วๆไป มีข้อแนะนำ ในช่วงที่มีอากาศเย็น ขอให้สวมเสื้อผ้าหนาๆให้เด็ก หลีกเลี่ยงพาเด็กเข้าไปในสถานที่แออัด เช่นศูนย์การค้า ตลาดสด เนื่องจากเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย ให้ล้างมือบ่อยๆ ใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอจาม หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กคลุกคลีกับกับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด หรือมีอาการไอ เป็นต้น นอกจากนี้เชื้อโรคบางชนิดเช่น ไข้หวัดใหญ่ มีวัคซีนป้องกันโรคได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดบริการฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับเด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี สามารถรับบริการได้ฟรีที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 31 ตุลาคม 2553 นายแพทย์มานิตกล่าว ****************************** 29 สิงหาคม 2553