นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ระดับเขต 18 เขตและระดับจังหวัด 75 จังหวัดทั่วประเทศจำนวน 186 คน ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ ถนนวิภาวดีรังสิต 64 กทม. ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 30 -31 สิงหาคม 2553 เพื่อเตรียมความพร้อมด้านวิชาการแก่ผู้รับผิดชอบงานรพ.สต.และวิทยากรระดับจังหวัด เพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพบุคลากรประจำ รพ.สต. ในพื้นที่เป้าหมาย 2,000 แห่งแรกที่เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2553 ให้สามารถจัดบริการได้ครอบคลุมด้านการส่งเสริมสุขภาพ การฟื้นฟูสภาพ ป้องกันโรค คุ้มครองผู้บริโภคและรักษาพยาบาลประชาชน ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพและความมั่นใจ เป็นต้นแบบให้กับ รพ.สต.ที่จะพัฒนาอีก 7,770 แห่ง ซึ่งจะดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไปจนครบทุกแห่ง

          นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับนโยบายการยกระดับสถานีอนามัยเป็นรพ.สต. ในปี 2553 นี้ ตั้งเป้ายกระดับ 2,000 แห่ง แต่ยังไม่สำเร็จได้ตามเป้าหมาย ต้องเร่งรัดให้เสร็จภายใน 30 กันยายน 2553 ซึ่งสถานีอนามัยที่จะยกระดับได้ ต้องผ่านเกณฑ์ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 4 ข้อ ได้แก่ 1. มีการปรับปรุงอาคารสถานที่และป้ายโรงพยาบาล 2. มีบุคลากรครบ โดยในรพ.สต.เดี่ยวมีอย่างน้อย 4 ตำแหน่ง 3. มีระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมต่อกับรพ.แม่ข่าย เช่น อินเตอร์เน็ต เพื่อรองรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2553 จะให้สถานพยาบาลในสังกัดทุกระดับ ใช้บัตรประชาชนแทนบัตรทองในการไปรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ4. มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนารพ.สต.แบบมีส่วนร่วมจาก 3 ภาคส่วน ได้แก่ สาธารณสุข ท้องถิ่นและประชาสังคม เพื่อระดมความคิดและทรัพยากรในการพัฒนารพ.สต. หากเข้าเกณฑ์ครบทั้ง 4 ข้อ ให้ประกาศเปิดเป็นรพ.สต.อย่างเป็นทางการได้ 
          นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ได้มอบนโยบายในการใช้งบประมาณในปี 2554 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป โดยขอให้เดินหน้าโครงการที่เป็นนโยบายของรพ.สต. และเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณให้ได้ตามเกณฑ์ และให้ทุกจังหวัดติดตามงานนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปขยายผล ลงมือปฏิบัติในพื้นที่ทันที ซึ่งจะช่วยการแก้ไขปัญหาสุขภาพเป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่น การลดโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โครงการเสริมไอโอดีนในหมู่บ้านและตำบล เพื่อเพิ่มระดับสติปัญญาคนไทย เป็นต้น
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้วางระบบความพร้อมเพื่อพัฒนารพ.สต. ให้มีศักยภาพในการจัดบริการประชาชนในพื้นที่จำนวน 11 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับบุคลากรรพ.สต. ทุกแห่งมี 6 หลักสูตร ได้แก่ 1. การจัดการดูแลโรคเรื้อรังในระดับครอบครัว   2. การดูแลสุขภาพฟันและช่องปากในชุมชน 3. การส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ 4. การคุ้มครองผู้บริโภค 5.การบริหารจัดการเครือข่าย และ 6.การจัดการความรู้ต่างๆ และหลักสูตรเฉพาะอีก 5 หลักสูตร ซึ่งสามารถปรับใช้ตามสภาพสังคมพื้นที่ ได้แก่ 1.การฟื้นฟูสภาพในชุมชน 2.การดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ 3.การจัดบริการการแพทย์แผนไทยในรพ.สต. 4.การให้คำปรึกษา และ5.การดูแลด้านการอนามัยเจริญพันธุ์ของประชาชน
           ************************************       31 สิงหาคม 2553


   
   


View 10    31/08/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ