กระทรวงสาธารณสุข นำหลักเศรษฐศาสตร์มาใช้บริหารจัดการระบบยา หลังพบการบริโภคยาในประเทศสูงกว่าปีละแสนล้านบาท โดยร้อยละ 50 เป็นการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม เพื่อผู้ให้บริการและผู้ป่วยมีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับยาได้เข้าถึงยา ตามมาตรฐานการรักษา อย่างสมเหตุผลและคุ้มค่า

เช้าวันนี้ (6 กันยายน 2553 ) ที่โรงแรมฮิลตัน ภูเก็ต อาคาเดีย รีสอร์ทแอนด์สปา จ.ภูเก็ต ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติขององค์กรวิชาชีพ ด้านเภสัชเศรษฐศาสตร์ ของภาคพื้นทวีปเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 4 (International Society of Pharmacoeconomics and Outcomes Research) ISPOR 4th Asia-Pacific Conference เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ด้านเภสัชวิทยา ผลการรักษาทางคลินิก และหลักเศรษฐศาสตร์ ในการพิจารณาการคัดเลือกหรือใช้ยา โดยมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 700 คน จากกว่า 34 ประเทศเข้าร่วมประชุม
          ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทางยาอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านยาในทุกประเทศทั่วโลกมีค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันพบว่าค่าใช้จ่ายด้านยาในภาพรวมของประเทศมีการบริโภคยาสูงกว่าแสนล้านบาทต่อปี โดยในปี 2548 มีมูลค่า 103,517 ล้านบาท โดยการใช้ยาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50เป็นการใช้ยาไม่สมเหตุผล เกิดขึ้นทั้งในสถานพยาบาลและชุมชน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการรักษาพยาบาล เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา ปัญหาการควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ความไม่เสมอภาค ความเชื่อมั่นต่อคุณภาพยาชื่อสามัญ ทัศนคติและพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม โดยค่าใช้จ่ายด้านยาต่อค่าใช้จ่ายสุขภาพของประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ43 ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วนร้อยละ 10-20 เท่านั้น นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายด้านยายังมีอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆของการรักษาพยาบาล ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการจัดทำคู่มือการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมถึงการนำไปเป็นเกณฑ์การตัดสินใจคัดเลือกยาในระบบบัญชียาหลักแห่งชาติบ้างแล้ว
          ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนให้คนไทยเข้าถึงยาอย่างถ้วนหน้า มีมาตรฐาน และสามารถพึ่งตนเองได้ โดยมียาจำเป็นสำหรับใช้อย่างทั่วถึง ทันเหตุการณ์ เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ทั้งนี้การดำเนินงานในนโยบายเรื่องนี้ให้ประสบผลสำเร็จ ให้ประชาชนได้ใช้ยาดีมีประสิทธิผลดี คุ้มค่า ในราคาที่เหมาะสม จำเป็นอย่างยิ่งต้องนำหลักการทางเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาในอนาคต โดยให้ความสำคัญในการศึกษาและพัฒนาระบบยาให้มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดนโยบายดังนี้ 1. การจัดการเบิกจ่ายในระบบประกันสุขภาพที่รัฐเป็นผู้จ่ายเงินเป็นมาตรฐานเดียวกัน และ 2.สิทธิประโยชน์ด้านยาแบบตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีคุณค่า (value-based drug benefit scheme) เพื่อผู้ให้บริการและผู้ป่วยมีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ตามมาตรฐานการรักษาที่คุ้มค่า นำหลักเภสัชเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการคัดเลือกยา การจัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติและราคากลางยาในการจัดซื้อยาให้ทันสมัย
          ดร.พรรณสิริ กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายด้านการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา (Compulsory licensing) ปัจจุบันรัฐบาลยังคงใช้นโยบายดังกล่าวกับยาบางกลุ่มที่มีความจำเป็นต่อปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะยารักษาโรคเอดส์    
 
 *********************************** 6 กันยายน 2553


   
   


View 10    06/09/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ