“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
หาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาอีคิว ปรับเปลี่ยนทัศนตคิ ค่านิยม วัฒนธรรมคู่กับการปรับพฤติกรรม
วันนี้ (6 กันยายน 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารถึงปัญหาการใช้ความรุนแรงของวัยรุ่น ว่า กรมสุขภาพจิตได้ทำการวิจัยถึงปัจจัยและกลไกที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น พบ 6 สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงได้แก่ 1.ความคิด ทัศนคติและค่านิยม เรื่องความรุนแรง ศักดิ์ศรีและวัฒนธรรม เป็นสาเหตุสำคัญถึงร้อยละ 60-80 2.การดื่มสุรากับการเสพสารเสพติดเพิ่มความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการกระทำที่รุนแรง 9 – 20 เท่า 3.การติดเกมส์ ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3.5 เท่า 4.สื่อเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดการเลียนแบบ 2.3 เท่า 5.ความรุนแรงของผู้ใหญ่ในสังคม มีส่วนทำให้เกิดการเลียนแบบ 1.7 เท่า และ6.ครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ความเข้มงวด ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมรุนแรง 1.3 เท่า
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการในส่วนของไอคิวควบคู่ไปกับอีคิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอีคิว จะต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม วัฒนธรรม ในเรื่องของการใช้ความรุนแรงรวมทั้งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่กันไป ซึ่งจะต้องมีการใช้ไม้แข็งควบคู่กันไปกับการใช้ไม้อ่อน ในเรื่องของไม้แข็งคือหากมีการทำผิดจะต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย นอกจากนั้นสถานศึกษาใดที่ปล่อยปละละเลยจะต้องรับผิดชอบรวมถึงผู้บริหารของสถานศึกษานั้นๆด้วย สำหรับไม้อ่อนนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการช่วยแก้ปัญหาในแนวทางของการเสริมสร้างอีคิวให้กลุ่มวัยรุ่น ที่ผ่านมาพบว่ามีการดำเนินการในส่วนของนักศึกษาอาชีวะหรือในสถาบันอาชีวะยังไม่เข้มข้นเท่าที่ควร
โดยการดำเนินการมีดังนี้คือ 1.การคัดกรองเด็ก ซึ่งกรมสุขภาพจิต มีการพัฒนากลไกที่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้ว 2.การจัดหลักสูตรในเรื่องของการเสริมสร้างอีคิวให้กลุ่มวัยรุ่น ทั้งในเรื่องของทักษะชีวิตของเด็กกลุ่มเสี่ยง การที่จะช่วยให้อยู่ร่วมในสังคมโดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง 3.การช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กลุ่มวัยรุ่น เช่นการตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ศูนย์เพื่อนใจวันรุ่น ทูบีนัมเบอร์วัน ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ผู้ที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันที่ความรู้ความเข้าใจและมีอีคิวที่ดี สามารถให้คำปรึกษากับเพื่อนหรือบุคคลอื่นที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้
ด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดี กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ศึกษาเชิงคุณภาพในกลุ่มเด็กที่ก่อความรุนแรง กรณีปาหิน พบปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.ความคึกคะนองของวัยรุ่น 2.การเรียกร้องความสนใจ การยอมรับในหมู่คณะ ซึ่งเพื่อนจะมีอิทธิพลมาก 3.ความโกรธ ความแค้นคนอื่นโดยเฉพาะสังคม จะแสดงออกมาในรูปแบบต่อต้านสังคมหรือก่อกวนสังคม เมื่อศึกษาลงในเชิงลึกจะพบว่าจะมีการเสพสุราและยาเสพติดร่วมด้วยเสมอ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ขาดความยับยังชั่งใจในการควบคุมพฤติกรรม อารมณ์ ในการเรียกร้องความสนใจจากสังคมนั้น เมื่อผู้ใหญ่ในสังคมสนใจ หรือผู้บังคับใช้กฎหมายมีความเข้มงวดมากขึ้นจะมีพฤติกรรมที่เลียนแบบตามมา
******************************* 6 กันยายน 2553