วันนี้(6 กันยายน 2553)ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันที่ 7-9 กันยายน 2553 ที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุม 2 ส่วน คือส่วนที่ 1. เป็นการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) ครั้งที่ 28 และการประชุมคณะกรรมการบริหารภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การอนามัยโลก เป็นการดำเนินการภายในขององค์การอนามัยโลกเฉพาะภูมิภาคนี้ เพราะองค์การอนามัยโลกแบ่งรูปแบบการบริหารเป็นภูมิภาค ซึ่งวันพรุ่งนี้ (7 กันยายน 2553) เป็นการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขที่เป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หัวข้อสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ สังคมเมืองกับสุขภาพ ให้เกิดการรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ เรื่องสังคมเมืองกับสุขภาพ 

นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย จะได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่าประเทศไทยได้ให้ความสำคัญเรื่องสังคมเมืองกับสุขภาพมาโดยลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความร่วมมือกับโครงการขององค์การอนามัยโลกที่เป็นโครงการสำคัญในปีนี้นี้คือโครงการ 1,000 เมือง 1,000 ชีวิต ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น ปรากฏว่ามีเทศบาลที่เข้าร่วมโครงการกับองค์การอนามัยโลก 51 เทศบาล และได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมประชุมที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายน 2553 นี้ จำนวน 2 เทศบาล และรอการพิจารณาจากองค์การอนามัยโลกอีก 11 เทศบาล ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสังคมเมืองกับสุขภาพมาก เพราะภายในปี 2020 ประเทศไทยจะมีประชากรอาศัยอยู่ในเขตชุมชนเมืองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 38 

 นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ละเลยในเรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชนในเขตชนบท ได้มีการดำเนินโครงการอย่างน้อย 5 เรื่องคือ 1.เพิ่มงบประมาณโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จาก 2,401 บาทต่อคนต่อปีเป็น 2,546 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งรักษาครอบคลุมในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงทั้งหมด 2.ขยายสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคมให้กับลูกจ้างครอบคลุมไปจนถึงบุตรและคู่สมรส 3.โครงการรณรงค์การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้และออกกำลังกายอีก เพื่อแก้ปัญหาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง 5 โรคคือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง อัมพาต และโรคหัวใจ ซึ่งค่าใช้จ่ายปีหนึ่งประมาณ 1 แสนล้านบาท 4.การออกประกาศให้เกลือบริโภคที่จำหน่ายในประเทศเสริมไอโอดีนเพื่อแก้ปัญหาเด็กไอคิวตกต่ำ และ5.การแก้ไขปัญหาสุขภาพคนในเขตชนบท โดยใช้ 4 กลไกหลักในการขับเคลื่อนสุขภาพคือ ยกระดับสถานีอนามัยทั่วประเทศเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ส่งเสริมให้อสม.เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน จัดทำแผนสุขภาพตำบล และตั้งกองทุนสุขภาพตำบล ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จะรายงานให้ที่ประชุมฯรับทราบ

          ************************************************ 6 กันยายน 2553
 


   
   


View 13    06/09/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ