5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานีและชัยนาท ร่วมลงนามปฏิญญานครสวรรค์ พัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับรากหญ้า 10 เรื่อง เพิ่มประสิทธิภาพ ความเชื่อมั่น ศรัทธาของประชาชน สามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ทั่วถึงและเป็นธรรม
วันนี้(10 กันยายน 2553) ที่โรงแรมพิมาน จังหวัดนครสวรรค์  ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการสัมมนาวิชาการเครือข่ายสาธารณสุขและจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในระดับตำบล หมู่บ้าน ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย กำแพงเพชร ชัยนาท พิจิตร นครสวรรค์และอุทัยธานี โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครูพี่เลี้ยงแหล่งฝึกงานนิสิตนักศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมสัมมนากว่า 300 คน การประชุมครั้งนี้ทั้ง 5 จังหวัดได้ร่วมลงนามปฏิญญานครสวรรค์ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบบริการสุขภาพในระดับตำบล เพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีประชากรรวมกัน 3 ล้านกว่าคน ให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ทั่วถึงและเป็นธรรม
ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายยกระดับสถานีอนามัย ซึ่งเป็นสถานบริการระดับรากหญ้าของกระทรวงสาธารณสุขอยู่ในตำบล หมู่บ้านต่างๆ มีทั้งหมด 9,770 แห่ง ขึ้นเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งระบบบริการสุขภาพพื้นฐาน ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสภาพและการรักษาพยาบาลเบื้องต้น โดยทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชนทั้งภาวะปกติและฉุกเฉิน ซึ่งจะส่งผลให้ระบบบริการในภาพรวมดีขึ้น ในปี 2553นี้ มีเป้าหมายดำเนินการ 2,000 แห่ง ใช้งบประมาณ 1,490 ล้านบาท ในปี 2554 จะยกระดับที่เหลืออีก 7,770 แห่ง ใช้งบประมาณ 6,000 ล้านบาท     
สำหรับปฏิญญานครสวรรค์นั้น เป็นตัวอย่างของความร่วมมือการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและสถานีอนามัยของจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกัน ให้เกิดความเข้มแข็งตามหลักการสาธารณสุขมูลฐานขององค์การอนามัยโลก เป็นที่เชื่อมั่น ศรัทธาของประชาชน มีทั้งหมด 10 เรื่อง ดังนี้ 1. พัฒนาความเข้มแข็งระบบบริการสุขภาพให้มีคุณภาพ หลากหลาย ครอบคลุมทั้งผู้ยากจน คนด้อยโอกาส มีระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ 2. ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างคล่องตัว 3. พัฒนาระบบการกระจายกำลังคนให้ทั่วถึง เป็นธรรม และปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ได้ยาวนาน 4.ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรมีความสามารถ มีทักษะใหม่ๆที่จะให้บริการประชาชนที่มีประสิทธิภาพ 5. พัฒนารูปแบบการจัดการงบประมาณการเงินที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพต่อการให้บริการประชาชน
6. พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านสาธารณสุขให้ทันสมัย เชื่อมโยงกับหน่วยงานทุกระดับเพื่อวางแผนในการจัดบริการอย่างมีประสิทธิภาพ 7.ส่งเสริมให้หน่วยงาน วิจัยและพัฒนาวิธีแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง   8. พัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันจัดการปัญหาสุขภาพ       9. พัฒนาบทบาท อสม.ให้มีความรู้ ความสามารถเหมาะสมกับสภาพปัญหาและความจำเป็น 10. พัฒนาการนำ   ภูมิปัญญาไทยและวิถีชีวิตไทยที่มีคุณค่า นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสุขภาพของประชาชน
  *********************************************** 10 กันยายน 2553


   
   


View 12    10/09/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ