เช้าวันนี้ (10 กันยายน 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 10 กันยายนทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก โดยในปีนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์ว่า หลากหน้า หลายพื้นที่ รวมพลังป้องกันการฆ่าตัวตายโลก”(Many Faces, Many Places : Suicide Prevention Across the World) มีความหมายว่า ทั้งโลกจะต้องรวมพลังกัน เพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายขึ้น ขณะนี้อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรทั้งโลกอยู่ที่ 16 คนต่อประชากรแสนคน  สำหรับประเทศไทยข้อมูลในปี 2552 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 3,634 คน อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 5.72 ต่อประชากร 100,000 คน สูงที่สุดในเดือนมิถุนายน จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง 5 จังหวัดแรก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน เชียงราย เชียงใหม่ และระยอง โดยผู้หญิงมีความพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ชาย 3 เท่า แต่เมื่อมีความพยายามฆ่าตัวตายแล้ว ผู้ชายจะทำสำเร็จสูงกว่าผู้หญิง 3.5 เท่า

          นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่เกิดจากความเครียด รองลงมาได้แก่ เป็นโรคซึมเศร้า ติดยาเสพติด และการเจ็บป่วยทางกาย อย่างไรก็ตามการฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้ และโรคซึมเศร้าซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือวิธีการป้องกันและวิธีการดูแลรักษาหากเป็นโรคซึมเศร้า โดยวิธีการป้องกันการฆ่าตัวตายเช่น พยายามหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ สร้างความมั่นคงให้กับจิตใจ ฝึกทักษะในการแก้ปัญหาชีวิต ปัญหาส่วนตัว ความขัดแย้งต่างๆ ซึ่งครอบครัวจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดการฆ่าตัวตายได้  
นอกจากนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดบริการด้านสุขภาพจิต ให้ผู้ที่อยู่ในภาวะที่อาจนำไปสู่การคิดฆ่าตัวตาย สามารถขอคำปรึกษาที่เข้าถึงง่าย เช่นสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือเว็บไซต์ของโรงพยาบาลศรีธัญญา การตอบคำถามผ่านเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษร และขยายบริการลงถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ  โดยใช้อสม.เป็นผู้ช่วยคัดกรองผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งขณะนี้ได้อบรม อสม. และเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในการคัดกรองผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพื่อนำไปสู่การป้องกันและดูแลรักษาต่อไป
“ขอย้ำว่า สิ่งที่สำคัญก็คือ การฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้ และโรคซึมเศร้าซึ่งเป็นสาเหตุหลัก รักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นอยากให้ทุกคนมีความหวัง” นายจุรินทร์กล่าว
ทางด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดเกณฑ์ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย โดยประเทศที่เสี่ยงสูงคือมีอัตราฆ่าตัวตายเฉลี่ยมากกว่า 13 คนต่อประชากรแสนคน เสี่ยงปานกลางมีอัตราเฉลี่ย 6.5-13 คนต่อประชากรแสนคน และประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยมีอัตราเฉลี่ยน้อยกว่า 6 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งประเทศไทยในปี 2552 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 3,634 คน เฉลี่ย 5.72 คนต่อแสนประชากร ถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงการฆ่าตัวตายน้อยติดต่อกันมาตลอด 3 ปี แต่ก็ยังต้องรณรงค์ป้องกันการฆ่าตัวตายต่อไป เพราะทุกชีวิตล้วนมีคุณค่า
***********************************        10 กันยายน 2553
 


   
   


View 12    10/09/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ