รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนผู้ปกครองระวังเด็กจมน้ำในช่วงปิดเทอมนี้ เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน หลายพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขัง เผยผลวิเคราะห์ทางสถิติ พบในเดือนเดือนตุลาคม มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุดเฉลี่ย 141 คนติดต่อกัน 10 ปี ชี้ปีนี้ หากครอบครัว ชุมชนไม่ร่วมมือกันป้องกัน อาจมีลูกหลานอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตในเดือนตุลาคม 2553 นี้ 145 คน
ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในปลายเดือนกันยายน จนถึงเดือนตุลาคม 2553 จะเป็นช่วงที่โรงเรียนส่วนใหญ่ปิดภาคเรียน ซึ่งตรงกับช่วงฤดูฝน และหลายพื้นที่มีน้ำท่วมขัง เด็กๆ อาจลงไปเล่นน้ำ และอาจเสียชีวิตจากการจมน้ำได้ จากข้อมูลที่ผ่านมาจะพบเด็กไทยจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 4 คน และเสียชีวิตสูงที่สุดในช่วงปิดเทอม คือเดือนมีนาคม เมษายน และเดือนตุลาคม เฉลี่ย 141 คนต่อเดือน โดยในเดือนตุลาคม 2552 พบว่ามีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 27 ดังนั้นในปีนี้หากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัว และชุมชน ไม่มีการดำเนินการป้องกันและแก้ไข คาดการณ์ว่าในเดือนตุลาคม 2553 ที่จะถึงนี้ อาจจะสูญเสียเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จากการจมน้ำประมาณ 145 คน
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า อยากฝากถึงเด็กๆ ให้จำแนวทางการป้องกันการจมน้ำหลักๆและปฏิบัติดังนี้คือ1.ควรยืนให้ห่างจากขอบบ่อหรือจุดที่มีน้ำท่วมขัง เนื่องจากอาจลื่นไถลตกลงไปได้ 2.อย่าเล่นน้ำคนเดียว ควรไปกับผู้ใหญ่เท่านั้น 3.หากพบเห็นคนตกน้ำ อย่ากระโดดลงไปช่วย แต่ขอให้ตะโกนเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วย หรือโยนวัสดุที่ลอยน้ำได้ เช่นขวดพลาสติกเปล่าปิดฝา แกลลอนเปล่า หลายๆ ชิ้นลงไปให้ เพื่อให้คนที่กำลังจะจมน้ำยึดเกาะ พยุงตัว หรือยื่นวัสดุที่หาง่ายและใกล้ตัวให้ เช่น ไม้ เข็มขัด ผ้าขาวม้า เพื่อให้คนที่ตกน้ำจับแล้วลากขึ้นมา
ในส่วนของผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก และชุมชน ขอให้ช่วยกันสอดส่องดูแลความปลอดภัยของเด็ก อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง หากพบเห็นขอให้ตักเตือน และควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญให้จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก เช่น แยกพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย รวมทั้งให้ปิดฝาภาชนะใส่น้ำ เช่นถังน้ำ ฝังกลบหลุมบ่อที่ไม่ได้ใช้ หรือติดป้ายเตือน และสอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงที่อยู่ใกล้บ้าน ครอบครัวใดที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะต้องเพิ่มความระมัดระวังภาชนะกักเก็บน้ำในบ้านด้วย เช่นถังน้ำ อ่างน้ำ กะละมัง ซึ่งเด็กวัยนี้มักชอบลงไปเล่นน้ำ เด็กสามารถจมน้ำได้แม้จะมีระดับเพียง 1-2 นิ้ว เนื่องจากเด็กวัยน้ำยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
ทางด้านนายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในกรณีที่พบเด็กจมน้ำ ในการช่วยเหลืออย่าจับเด็กอุ้มพาดบ่าแล้วกระโดด หรือวิ่งไปมา เพื่อให้น้ำออก เนื่องจากน้ำที่ออกมาจะเป็นน้ำจากกระเพาะไม่ใช่จากปอดเด็ก ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะจะทำให้เด็กขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้นและเสียชีวิต ซึ่งการเสียชีวิตจะเกิดขึ้นในเวลาอันสั้น ในน้ำจืดประมาณ 3-4 นาที ส่วนน้ำเค็มประมาณ 7-8 นาทีเท่านั้น วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง อันดับแรกคือการตะโกนขอความช่วยเหลือ และวางเด็กที่จมน้ำนอนราบ ตะแคงหน้าเอาน้ำออกจากปาก และช่วยให้เด็กหายใจได้เร็วที่สุดโดยวิธีการผายปอด ด้วยการเป่าลมเข้าทางปากติดต่อกันหลายๆครั้งตามจังหวะการหายใจ และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรแจ้ง 1669 โดยเร็วที่สุด
**************************************** 12 กันยายน 2553
View 12
12/09/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ