“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (14 กันยายน 2553) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มานิต ธีรตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรคร่วมการประชุมทางไกลผ่านทางระบบวีดีโอ หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video-conference)แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่และศูนย์ควบคุมป้องกันโรคทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ เพื่อเน้นย้ำมาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่
นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ที่ประเทศสิงค์โปร์ ที่ประชุมได้หารือเรื่อง โรคไข้เลือดออก ซึ่งหลายประเทศมีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้น ส่วนไทยได้มีการติดตามสถานการณ์รายงานในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทุกวันจันทร์ล่าสุด พบปีนี้สูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 125 โดยตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 - 4 กันยายน 2553 มีผู้ป่วยสะสม 75,852 คน เสียชีวิต 87 คน อัตราป่วย 119.53 ต่อแสนประชากร ซึ่งไม่สามารถนิ่งนอนใจได้แม้ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกันทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตาม
16 จังหวัดที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากที่สุด ได้แก่ เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี พะเยา ปัตตานี ตาก พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน สุรินทร์ นครราชสีมา ลำปาง ลพบุรี บุรีรัมย์ และสระแก้ว และ 10 อำเภอที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงที่สุด ได้แก่ 1.อ.หางดง จ.เชียงใหม่ 2.อ.อุ้มผาง จ.ตาก 3.อ.มะขาม จ.จันทบุรี 4.อ.เมือง จ.กระบี่ 5.อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี 6.อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ 7.อ.แม่ระมาด จ.ตาก 8.อ.สะเดา จ.สงขลา 9.อ.เมือง จ.พะเยา และ10.อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ สาเหตุเกิดจากประชาชนชาชนขาดความรู้ ความตระหนักในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการไม่ให้ความร่วมมือในการพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย การได้รับรายงานผู้ป่วยล่าช้าทำให้การควบคุมการระบาดของโรคล่าช้าไปด้วย รวมทั้งขาดการประสานการควบคุมและป้องกันโรคระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงมีฝนตกชุกในทุกพื้นที่ทำให้เพิ่มแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นต้น
นายจุรินทร์ ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดให้ถือว่าการควบคุมโรคไข้เลือดออกเป็นนโยบายเร่งด่วนของทุกจังหวัด ให้ทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเร่งรัดแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออก ปรับระบบการรายงานให้สมบูรณ์ ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาลรัฐ เอกชน คลินิก เพื่อให้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที ให้ทุกจังหวัดร่วมมือกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.)ในการค้นหาผู้ป่วย รณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนทุกพื้นที่ ทั้งโดยตรงและผ่านสื่อ โดยเฉพาะสื่อท้องถิ่น และสำรวจแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลาย รวมทั้งการพ่นทำลายยุงลาย
สำหรับเรื่องไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่สถานการณ์ยังไม่สามารถวางใจได้ทั้งหมด ประเทศไทยตั้งแต่มกราคม 2553จนถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว 51,594 ราย เสียชีวิตจำนวน 71 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 9,612 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ทั้งหมด และเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 63 ราย ขณะที่ในปี 2552 มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 194 ราย และในปีนี้พบการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนในบางพื้นที่ แต่มีขนาดเล็กกว่าปี 2552 โดยพบผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เกินกว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยนอกใน 25 จังหวัด สำหรับ 10 จังหวัดที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 สูงสุด ได้แก่ นนทบุรี นครราชสีมา กรุงเทพฯ นครสวรรค์ ปทุมธานี สมุทรปราการ ลพบุรี อุดรธานี สุโขทัย และพิษณุโลก
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ให้ทุกจังหวัดเน้นหนัก 4 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.การเร่งรัดการฉีดวัคซีนใน 7 กลุ่มเสี่ยงที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังให้บริการฟรีในโรงพยาบาลภาครัฐทั่วประเทศ ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3สายพันธุ์ ทั้งไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 2สายพันธุ์และไข้หวัดใหญ่ 2009ด้วย จนถึงวันที่ 31ตุลาคม 2553ขณะนี้มีกลุ่มเสี่ยงเข้ารับบริการฉีดแล้ว 1,0590,000ราย คิดเป็นร้อยละ 50ของวัคซีนที่มีอยู่ 2.1ล้านโด๊ส โดยจังหวัดที่ต้องเร่งรณรงค์ในการฉีดวัคซีนเป็นกรณีพิเศษ 10 จังหวัด เนื่องจากมีผู้มารับบริการน้อยที่สุด ได้แก่ สุรินทร์มีผู้มารับวัคซีนร้อยละ 7.3 หนองบัวลำพู มีผู้มารับวัคซีนร้อยละ 20.5 ปทุมธานี มีผู้มารับวัคซีนร้อยละ 23.3 ชุมพร มีผู้มารับวัคซีนร้อยละ 23.4 นครปฐม สมุทรสงคราม มีผู้มารับวัคซีนจังหวัดละร้อยละ 24 สกลนคร มีผู้มารับวัคซีนร้อยละ 25.3 อยุธยามีผู้มารับวัคซีนร้อยละ 26.1 จันทบุรีมีผู้มารับวัคซีนร้อยละ 27.4 และร้อยเอ็ด มีผู้มารับวัคซีนร้อยละ 29
2.หากพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ขอให้ให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทันทีไม่ต้องรอผลการตรวจยืนยันว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 หรือไม่ และไม่ต้องห่วงประเด็นการดื้อยา เนื่องจากได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญชัดเจนว่า ปัญหาการดื้อยาของไทยพบร้อยละ 1.35 ซึ่งจัดอยู่ในมาตรฐานทั่วไปที่ให้ดื้อยาได้ร้อยละ 1 – 2 และผู้ป่วยที่พบดื้อยาทั้งหมดหายเป็นปกติแล้ว
3.ให้ทุกจังหวัดค้นหาการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่พบเป็นกลุ่มก้อนรวมทั้งรายบุคคลเพื่อควบคุมการระบาด โดยเฉพาะการจัดประชุมสัมมนาที่มีการรวมกลุ่มเป็นจำนวนมากจะต้องมีการตรวจคัดกรองผู้ป่วยไม่ให้ร่วมกิจกรรม และ4.ให้ทุกจังหวัดรณรงค์การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ด้วยมาตรการ ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย นายจุรินทร์ กล่าว