วันนี้ (20 กันยายน2553)ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ของโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม 600 คน โดยนายจุรินทร์ได้มอบนโยบายให้แพทย์ ตรวจวินิจฉัยและรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่เสี่ยงอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่เหมาะสม รวดเร็ว ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ลดจำนวนการเจ็บป่วย ลดการเสียชีวิตลงให้มากที่สุด รวมทั้งลดอาการแทรกซ้อน และผลกระทบอื่นๆตามมา
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้โรคที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก ได้กำชับให้เขตตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต และทุกจังหวัดเฝ้าระวังดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกกำลังโจมตีภูมิภาคนี้ และสถานการณ์ของไทยใกล้เคียงกับหลายประเทศ เช่น กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งการประชุมรัฐมนตรีที่ผ่านมา ทุกประเทศได้หยิบยกการระบาดของโรคนี้มาพูดคุยกัน และมีมติว่า จะจัดให้มีวันเด็งกี่เดย์หรือวันโรคไข้เลือดออกขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 – 10 กันยายน 2553 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 80,907 ราย เสียชีวิต 90 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับกับปีที่ผ่านมา ปีนี้สูงขึ้นเท่าตัวถึงร้อยละ 128.36 โดยพบผู้ป่วยในภาคใต้สูงสุด อัตราป่วย 235.53 ต่อประชากรแสนคน ภาคเหนือ 135.04 ภาคกลาง 103.31 ต่อประชากรแสนคน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 102.81 ต่อประชากรแสนคน
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มอบนโยบาย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานควบคุมโรค ผ่านทางระบบวิดีโอ คอนฟอร์เร้นท์ เน้นย้ำชัดเจนให้ทุกจังหวัดดำเนินการ 4 มาตรการ คือ1. ให้ถือว่าการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก เป็นนโยบายอย่างเร่งด่วน 2. ให้ทุกจังหวัดต้องตั้งวอร์รูม เพื่อรบกับโรคไข้เลือดออก 3.ให้ประสานงานและปรับการรายงานตัวเลขผู้ป่วยให้ครอบคลุมถึงโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำที่สุด สามารถนำมาแก้ไขปัญหาได้ และ4. ให้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อสม. ในการค้นหาผู้ป่วย และรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยใช้มาตรการป้องกันขั้นพื้นฐานที่ทำอยู่ ได้แก่ 3 ร. 5 ป ให้เกิดผล เพื่อป้องกันและควบคุมสถานการณ์ไม่ไห้โรคเกิดลุกลามมากขึ้น
ทั้งนี้ในการประชุมในวันนี้ มีวิทยากรซึ่งเป็นที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรค คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ มาร่วมให้ความรู้ เทคนิค ประสบการณ์ขั้นตอนในการตรวจวินิจฉัย และการรักษาพยาบาลแก่แพทย์พยาบาลด้วย
**************************************************20 กันยายน2553