ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้กรณีฟิล์ม รัฐภูมิ กินยาคลายเคียดเกินขนาด เป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ขอให้ทุกฝ่ายให้กำลังใจให้อภัย และหยุดขุดคุ้ยเรื่องเพราะความสนใจ อยากรู้ อยากสะใจ    เพื่อให้มีความสงบ ในการตัดสินใจคลี่คลายปัญหาดีขึ้น ป้องกันความเครียดสะสมเรื้อรัง  

จากกรณีมีข่าวฟิล์ม รัฐภูมิ กินยาคลายเคียดเกินขนาด เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จากความเครียดที่กำลังมีข่าวปัญหาความสัมพันธ์กับนักแสดงหญิงเรื่องบุตรอยู่ในขณะนี้ นั้น
ในวันนี้ (4 ตุลาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์อภิชัย มงคล ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีการรับประทานยาคลายเครียดเกินขนาด มีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ แต่หากรับประทานไม่มากก็จะมีอาการสะลึมสะลือ แต่ไม่ว่าจะรับประทานยาไปจำนวนมากน้อยก็ตาม ขอให้สังคมรับทราบว่า ขณะนี้ได้มีการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ และหากสังคม คนรอบข้างให้ความช่วยเหลือทุกอย่างก็จะดีขึ้น แต่หากสังคมมองเป็นเรื่องอื่น คิดว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ และยังไม่หยุดขุดคุ้ย ไม่ให้อยู่ในความสงบ ก็อาจจะรุนแรงกว่านี้ก็ได้
ขอให้อย่าลืมว่าผู้ชายไทยฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าผู้หญิงมาก ผู้หญิงมักพยายามฆ่าตัวตายบ่อยๆ แต่ไม่ค่อยสำเร็จ โดยผู้ชายนั้นเมื่อมีความเครียด กลุ้มใจ มีความทุกข์มากๆ มักจะไม่ค่อยปรึกษาหารือคนใกล้ชิด และยิ่งเป็นดาราก็อาจต้องระมัดระวังในการขอคำปรึกษาจึงทำให้เกิดความเครียดเรื้อรังยาวนาน เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังหากเกิดกรณีเช่นนี้ คนใกล้เคียงรอบข้าง ควรต้องช่วยกันระมัดระวัง ขอให้คิดถึงจิตใจให้มากขึ้น มากกว่าที่จะอยากทราบข่าวหรือแสดงความเห็นอย่างเดียว นายแพทย์อภิชัยกล่าว 
          นายแพทย์อภิชัยกล่าวต่อว่า ในระหว่างที่มีความขัดแย้งกัน ทั้ง 2 ฝ่ายได้รับความทุกข์ทรมานใจมากแล้ว จากนี้ไปน่าจะให้เวลาเขา ให้อยู่ในความสงบ มีเวลาตั้งสติ เพื่อคิดวางแผนชีวิตต่อไป สังคมควรหยุดการกระทำต่างๆ ที่มองเฉพาะในเรื่องที่ตัวเองสนใจ อยากรู้ หรืออยากสะใจ หรือการแพ้ชนะเข้ามาเกี่ยว เพราะคนเราไม่ว่าจะขัดแย้งกันอย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจคืนสู่สัมพันธภาพที่ดีที่ควรเป็นได้ ตอนนี้จึงถึงเวลาที่สังคมไม่ว่าจะเชียร์ฝ่ายใดจะต้องให้อภัย เพื่อทุกคนจะได้เริ่มต้นใหม่ได้ และควรเรียนรู้ว่า ต่อไปควรระมัดระวังให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กลไกตามธรรมชาติของแต่ละคน เมื่อเกิดความเครียดในช่วงแรกๆ ทุกคนจะต้องใช้เวลาในการปรับตัว แต่เมื่อระยะเวลายาวนานจะกลายเป็นความเครียดที่สะสมลึกซึ้ง กลไกทางจิตจะป้องกันตนเองไม่ไหว ก็จะหาทางออกแตกต่างกัน บางคนอาจฆ่าตัวตาย เป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตอื่นๆ ดื่มเหล้าหรือเสพสารเสพติด
********************************** 4 ตุลาคม 2553
 
 


   
   


View 11    04/10/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ