รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผักผลไม้ในท้องตลาดขณะนี้ ยังพบสารปนเปื้อนประมาณร้อยละ 28 ย้ำเตือนโดยเฉพาะเทศกาลกินเจ ก่อนปรุงต้องล้างให้ถูกวิธีเช่นใช้ผงฟู น้ำส้มสายชู เกลือป่น หรือน้ำสะอาดหลายๆครั้ง สามารถลดสารพิษลงได้ร้อยละ 27-95 พร้อมย้ำเตือนผู้ที่มีโรคประจำตัว 4 โรค คือความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ และอัมพาต ซึ่งมีประมาณ 16 ล้านคน กินอาหารเจต้องระวัง เนื่องจากส่วนใหญ่มักมันและเค็ม
ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า อีก 2 วันจะถึงเทศกาลกินเจ ซึ่งเป็นประเพณีการถือศีลที่คนไทยมีแนวโน้มนิยมกินเจมากขึ้น โดยกินติดต่อกัน 10 วัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพเนื่องจากอาหารเจเป็นอาหารที่ทำจากพืชผักต่างๆรวมทั้งผลไม้ ทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น เพราะในผักผลไม้จะมีกากใยมาก กากใยต่างๆจะช่วยลดระดับไขมันในร่างกายลงด้วย และมีวิตามินช่วยบำรุงร่างกาย ไม่จำเป็นต้องพึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงผู้ที่กินเจใน 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องความปลอดภัยของผักผลไม้ที่จะนำมาประกอบอาหารเจ ควรเป็นผักผลไม้ที่ปลอดภัย เนื่องจากขณะนี้ผลการตรวจจากกรมวิทยาการแพทย์ พบมีสารปนเปื้อน โดยเฉพาะยากำจัดแมลงร้อยละ 28 ดังนั้นควรเลือกซื้อผักผลไม้ที่มีป้ายรับรองปลอดสารพิษ ถ้าซื้อจากตลาดทั่วไป ให้นำมาขจัดสารปนเปื้อนก่อน ซึ่งทำได้หลายวิธี ได้แก่ การใช้ผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำอุ่นประมาณ 20 ลิตรหรือ 1 กะละมัง กวนน้ำจนผงฟูละลายหมด นำผักสดมาแช่ไว้นาน 15 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาด 2 ครั้ง จะลดสารพิษตกค้างลงได้มากถึงร้อยละ 90-95 หรือใช้น้ำส้มสายชูที่ใช้ทั่วไป หรือเกลือป่น จำนวน 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ 20 ลิตร หรือ 1 กะละมัง แล้วนำผักสดแช่นาน 15 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาด 2 ครั้ง โดยถ้าใช้น้ำส้มสายชู จะลดสารพิษได้ร้อยละ 60-84 หากใช้เกลือป่นจะลดสารพิษลงได้ร้อยละ 29-38 นอกจากนี้ยังสามารถล้างผักโดยใช้น้ำสะอาดไหลผ่าน และใช้มือคลี่ใบผักออกด้วยนาน 2 นาที จะลดสารพิษได้ร้อยละ 54-63 หรืออาจจะใช้วิธีปลอกเปลือกชั้นนอกทิ้ง และเด็ดผักออกเป็นใบๆ แช่น้ำนาน 15 นาที จะลดสารพิษได้ร้อยละ 27-72
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่าอีกเรื่องหนึ่ง คืออาหารเจ มักจะเป็นอาหารที่มีความมันมาก อาหารเจบางชนิดเป็นอาหารหมักดอง เช่น ผักกาดดองเค็ม หัวไช๊โป้ว ปลาเค็มเจ อาหารแห้งที่หมักด้วยเกลือ อาหารเหล่านี้จะมีความเค็มสูง ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และอัมพาต ซึ่งสำรวจล่าสุด 4 กลุ่มมีประมาณ 16 ล้านคน ควรต้องกินด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่แนะนำให้กินอาหารเจที่มีความมัน อาหารเจที่มาจากการหมักดองและขนมที่หวานจัด เพราะการรับประทานอาหารดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลานาน 10 วัน อาจทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่กำเริบขึ้นได้
ในเทศกาลกินเจนี้ จึงขอแนะนำให้ผู้เป็นโรคดังกล่าว ใช้ผักสด มาปรุงเป็นอาหารเจ โดยใช้น้ำมันให้น้อยที่สุด ไม่เค็ม ส่วนผลไม้ให้เลือกรับประทานผลไม้ที่ไม่หวานจัด เช่นชมพู่ แก้วมังกร สาลี่ แอปเปิล ฝรั่ง มะละกอ ส่วนขนมหวานให้รับประทานแต่น้อยและเป็นขนมที่ไม่หวานจัด
***************************************************** 5 ตุลาคม 2553