วันนี้(5 ตุลาคม 2553)ที่องค์การเภสัชกรรม กรุงเทพมหานคร นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมองค์การเภสัชกรรมเพื่อติดตามระบบการผลิตไอโอดีนชนิดเม็ด ตามนโยบายเพื่อแจกให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีปีละประมาณ 800,000 คน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากการสำรวจพบหญิงไทยที่ตั้งครรภ์ มีภาวะพร่องไอโอดีนสูงถึงร้อยละ 60 ซึ่งสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ คือร้อยละ 50 ดังนั้นจึงได้มีนโยบายให้มีการแจกไอโอดีนชนิดเม็ดให้หญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้กระจายไอโอดีนไปให้โรงพยาบาลแล้ว 950 แห่ง จำนวน 1.2 ล้านเม็ด ซึ่งได้แจกให้หญิงตั้งครรภ์รายใหม่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 และกำลังเร่งการผลิตเพื่อแจกให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนในวันที่ 15 ตุลาคม 2553
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ไอโอดีนที่องค์การเภสัชกรรมผลิต มี 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดผสมรวมระหว่างธาตุเหล็ก โฟเลต และไอโอดีน ชนิดนี้จะให้หญิงตั้งครรภ์ปกติทั่วไป และชนิดไอโอดีนอย่างเดียว ซึ่งชนิดนี้จะให้กับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย หรือโรคเลือด เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวไม่ต้องการธาตุเหล็กเพิ่ม ซึ่งการรับประทานไอโอดีนนั้น จะต้องรับประทานภายใต้การควบคุมของแพทย์จนกว่าหญิงตั้งครรภ์จะคลอด เมื่อเด็กทารกคลอดแล้ว จะมีการเจาะส้นเท้าเพื่อตรวจว่าทารกมีภาวะพร่องไอโอดีนหรือไม่ หากพบจะรีบทำการรักษาทันที
สำหรับบุคคลทั่วไปกระทรวงสาธารณสุขใช้นโยบายเกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า ซึ่งได้ลงนามในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ให้เติมสารไอโอดีนในผลิตภัณฑ์ 4 กลุ่ม ได้แก่เกลือบริโภคน้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหารและผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลืองได้แก่ ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว ซอสปรุงรส ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 และตั้งแต่ 1มกราคม 2554หากตรวจพบว่าเกลือบริโภคที่จำหน่ายไม่เติมไอโอดีน จะเข้าข่ายอาหารปลอมหรือเรียกง่ายๆว่าเกลือปลอม มีโทษจำคุก 6เดือน - 10ปี ปรับ 5,000 – 100,000บาท
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ได้ให้นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อติดตามประเมินผลหลังจากที่ให้ไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ และนำผลที่ได้มาประเมินเพื่อวางแนวทางในการดำเนินงานเรื่องการขาดสารไอโอดีนต่อไป
............................. 5 ตุลาคม 2553