ให้การช่วยเหลือครบวงจร หลังพบครึ่งหนึ่งของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และแก้ปัญหาโดยการทำแท้ง

วันนี้ (2 ธันวาคม 2553) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงข่าวและเป็นประธานเปิดบริการสายด่วน 1323 ใหม่ เพิ่มการให้คำปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ณ ศูนย์สายด่วนสุขภาพจิต โรงพยาบาลศรีธัญญา จ.นนทบุรี

นายจุรินทร์กล่าวว่า วันนี้ ถือเป็นการเปิดการให้บริการสายด่วน 1323 ให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ ซึ่งมี 32 คู่สาย เปิดให้บริการฟรี 24 ชั่วโมงตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เนื่องจากขณะนี้พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของการทำแท้งอยู่ในกลุ่มวัยรุ่น โดยมีวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีตั้งครรภ์ปีละประมาณ 120,000 คน เฉลี่ยวันละประมาณ 700 คน ครึ่งหนึ่งคือ 350 คนมีการทำแท้ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงเพราะวัยรุ่นอาจจะไม่มีทางออก ไม่ได้รับคำปรึกษาในทางที่ถูกต้อง ไปปรึกษาหมอทำแท้งก็แน่นอนว่าจะต้องให้ทำแท้ง ทั้งที่ความจริงมีทางออกอีกมากและไม่เป็นอันตรายต่อแม่ ซึ่งสายด่วน 1323 สามารถให้คำปรึกษาทางออกเหล่านี้ได้
แนวทางที่ดีทีสุดก็คือมาตรการป้องกันที่จะไม่นำไปสู่การทำแท้ง วิธีตรงไปตรงมาก็คือต้องไม่มีเพศสัมพันธ์ ถ้ามีเพศสัมพันธ์ก็ต้องมีอย่างปลอดภัย และหากตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ จะต้องมีมาตรการต่างๆรองรับ เช่นมาตรการที่สามารถทำแท้งได้ ซึ่งต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ทำได้อยู่แล้ว เช่นกรณีปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไปจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายหรือสภาพจิตใจของแม่ หรือกรณีถูกข่มขืน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอื่นๆ เช่น การให้บริการบ้านพักในระยะตั้งครรภ์จนกว่าจะคลอด หรือหาพ่อแม่อุปถัมภ์ให้หลังคลอด
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับการให้คำปรึกษาผ่านสายด่วน 1323 นี้ จะให้คำปรึกษาสำหรับวัยรุ่น ทั้งที่ไม่เคยและเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ตลอดจนให้คำปรึกษาการป้องกันการตั้งครรภ์ การติดโรค และอื่นๆ กล่าวโดยสรุปก็คือจะเป็นสายด่วนที่ให้คำปรึกษาในเรื่องเพศศึกษา ครอบครัวศึกษา และเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ทั้งนี้ ระหว่างการเยี่ยมชมการให้บริการสายด่วน 1323 ของศูนย์สายด่วนฯ โรงพยาบาลศรีธัญญา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับสายผู้โทรศัพท์มาขอรับคำปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ โดยนายจุรินทร์กล่าวว่า ผู้โทรได้ขอคำปรึกษาว่ามีเด็กที่มารดาอุปการะเลี้ยงดูมาตั้งแต่อยู่ 1ปี 4 เดือน จนขณะนี้อายุ 14 ปีและตั้งครรภ์ ถ้าคลอดออกมากังวลว่าจะเป็นภาระครอบครัวเพิ่มอีกและปัญหาอื่นๆอีกบางส่วน อยากขอคำแนะนำ ซึ่งได้รับข้อมูล และให้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญต่อ
กรณีเช่นนี้ความจริงมีทางออกอยู่ เช่นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะมีที่พักให้บริการระหว่างที่ตั้งครรภ์ หากคลอดแล้วมีปัญหาคุณแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูได้จริงๆ ก็จะมีบริการหาพ่อแม่บุญธรรมที่มีความประสงค์จะรับเด็กไปเลี้ยง ซึ่งเป็นทางออกทางหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องไปทำแท้ง จึงเป็นที่มาที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเปิดสายด่วน 1323 แผนกกรณีให้คำปรึกษาการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์หรือการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา ครอบครัวศึกษาขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อที่จะให้คำแนะนำในทางที่สร้างสรรค์ ถูกกฎหมาย และถูกศีลธรรมที่สังคมควรจะสนับสนุน ซึ่งมีคำตอบหลายแง่มุม ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างหนึ่ง นายจุรินทร์กล่าว
 
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ในการให้บริการปรึกษาสายด่วน 1323 เจ้าหน้าที่จะสอบถามเพียงข้อมูลเบื้องต้นเช่นอายุ เพศ เพื่อประกอบการให้คำปรึกษา ผู้ขอรับคำปรึกษาไม่ต้องเปิดเผยชื่อนามสกุล โดยได้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ทั้งหมดและจัดทำคู่มือการให้บริการซึ่งเป็นคู่สายที่ออนไลน์ทั่วประเทศ โดยได้ให้อธิบดีกรมสุขภาพจิตติดตามประเมินผลว่ามีผู้โทรศัพท์ขอคำปรึกษาเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เพื่อปรับปรุงพัฒนาการให้บริการต่อไปในอนาคต ซึ่งจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาสังคมได้มาก
หลักใหญ่ของการป้องกันการท้องไม่พึงประสงค์ วิธีที่ตรงไปตรงมาก็คือไม่มีเพศสัมพันธ์ ต้องรู้จักปฏิเสธโดยไม่ให้สูญเสียความรัก เด็กวัยรุ่นจำนวนหนึ่งไม่กล้าปฏิเสธเพราะกลัวว่าคนรักจะไม่พอใจ และจะเสียความรัก ก็ยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์ ในที่สุดก็ตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะฉะนั้นเราจะให้คำแนะนำวิธีที่ถูก ว่าวิธีการปฏิเสธโดยไม่ให้สูญเสียความรัก ความสัมพันธ์ที่ดีควรทำอย่างไร และทิศทางที่ถูกต้อง ความรักที่สร้างสรรค์คือการช่วยกันเรียน ช่วยกันให้คำปรึกษาแนะนำ ช่วยกันหาทางออกในทิศทางที่ดี แต่ไม่ช่วยกันทำในสิ่งที่จะเป็นปัญหาทั้ง 2 ฝ่ายนำไปสู่ปัญหาสังคมต่อไป รวมทั้งหากพลาดพลั้งมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว จะต้องทำอย่างไร หรือตั้งท้องแล้วมีทางออกอย่างไรที่ไม่จำเป็นต้องไปทำแท้ง นายจุรินทร์กล่าว
ด้านนายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มาช่วยจัดการระบบโทรศัพท์สายด่วน 1323 เนื่องจากประชาชนต้องการบริการรับคำปรึกษาจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมามีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี เดิมมี 20 คู่สาย   แต่ระบบใหม่นี้ ได้เพิ่มเป็น 32 คู่สาย หากสายไม่ว่างจะมีบริการรับฝากข้อความ และเจ้าหน้าที่จะโทรกลับติดตามให้คำปรึกษาทุกราย โดยเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษามาจาก 17 โรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ วันละ 120 คน เฉพาะที่โรงพยาบาลศรีธัญญามี 3 คู่สาย มีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมเรื่องการให้บริการปรึกษาแล้ว ประกอบด้วยพยาบาลจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา รวม 25 คน จัดเวรหมุนเวียนมาประจำวันละประมาณ 5-10คน
สำหรับสถิติการให้บริการ เดิมได้จัดไว้ 18 กลุ่ม พบว่าเรื่องที่ประชาชนโทรมาปรึกษามากเป็นอันดับ 1 คือ ปัญหาสุขภาพจิต เช่นเครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวล โมโหง่าย มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งในที่ทำงาน เป็นต้น อันดับ 2 คือความเจ็บป่วยทางจิตเวช มีอาการเจ็บป่วยทางจิตแล้ว เช่น หูแว่ว ประสาทหลอน เป็นต้น อันดับ 3 เป็นเรื่องเพศและความรัก โดยปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เป็นกลุ่มที่ 19 ในการให้บริการสายด่วน
นายแพทย์อภิชัยกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีกฎหมายและประกาศของแพทยสภา สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่ประชาชนยังมีความรู้เรื่องนี้น้อยมาก จึงเกรงว่าหากต้องการทำแท้งจะผิดกฎหมาย กรมสุขภาพจิต จะจัดประชุมแพทย์ นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เปิดเวทีให้พูดคุยทำความเข้าใจและกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน ในรายละเอียดของกฎหมาย มาตรา 305 และประกาศของแพทยสภาที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีแนวปฏิบัติที่ละเอียด และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ประชาชนยังไม่ทราบว่ามีบริการสังคมต่างๆของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่คอยช่วยเหลือดูแลเด็กที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมและครอบครัวไม่ยอมรับ ซึ่งสายด่วน 1323 จะช่วยทำความเข้าใจเรื่องการบริการต่างๆ เหล่านี้ หรือกรณีเด็กตั้งครรภ์จะถูกไล่ออกจากโรงเรียน ก็จะมีเจ้าหน้าที่ช่วยพูดคุยกับครูอาจารย์ หรือไปพูดคุยทำความเข้าใจกับครอบครัว พ่อแม่เด็กที่ตั้งครรภ์ รวมทั้งประสานเชื่อมต่อรับบริการต่าง ๆ ของสังคม
 
  ************************************ 2 ธันวาคม 2553


   
   


View 12       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ