กระทรวงสาธารณสุข ขอสนับสนุนงบกว่า 40 ล้านบาทจากประเทศแคนาดา อบรม อสม.ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะคัดเลือก อสม. 668 คน ยกระดับให้เป็น อสม. แกนนำ เป็นผู้ช่วยแพทย์ พยาบาล หมออนามัย ในการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ สร้างความเชื่อมั่นสร้างศรัทธา และลดช่องว่างระหว่างภาครัฐกับประชาชน วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้อนรับ ฯพณฯเดนิส คอมมอร์ (Mr.Denis Comeau) เอกอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็มแห่งแคนาดาประจำประเทศไทย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ซึ่งเดินทางมาพบปะหารือเรื่อง เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ นายแพทย์มงคล ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือว่า ในวันนี้ได้ขอความร่วมมือให้ประเทศแคนาดา สนับสนุนงบประมาณสำหรับอบรม อสม. ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ กว่า 40 ล้านบาท เป็นการอบรมฟื้นฟูศักยภาพของ อสม. ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบด้วยนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ จะนะ สะบ้าย้อย เทพา และนาทวี 37 อำเภอ 148 ตำบล รวม 12,000 คน และคัดเลือก อสม. ในพื้นที่ดังกล่าวอีก 668 คน มาอบรมเพิ่มพูนความรู้หลักสูตร 1 ปี เพื่อให้เป็นผู้ช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในสถานีอนามัย ในโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลศูนย์ฯ โครงการนี้จะลดช่องว่างระหว่างภาครัฐกับประชาชน สร้างความศรัทธาและความเชื่อมั่นในหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาบริการทางสุขภาพพื้นที่อย่างเป็นระบบ ซึ่งเอกอัครราชทูตแคนาดาเห็นด้วยในข้อเสนอของประเทศไทย นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า การขอสนับสนุนจากรัฐบาลแคนาดาในครั้งนี้ จะให้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เสนอโครงการดังกล่าว ซึ่งมีนายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน เป็นผู้ประสานดำเนินการแทนกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้วได้มีหนังสือแจ้งไปทุกประเทศว่าประเทศไทยจะไม่ขอรับการช่วยเหลือจากประเทศอื่นใด ดังนั้นหากจะขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศในขณะนี้ ต่างประเทศจะต้องนำไปเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เข้าสภาใหม่เป็นเรื่องที่ใช้เวลายาวนานมาก จึงต้องใช้วิธีการนี้แทน ซึ่งจะได้รับการช่วยเหลือที่รวดเร็วกว่า โดยหากแล้วเสร็จจะเร่งอบรมฟื้นฟู อสม.ภายใน 2 เดือน ทั้งนี้ในการคัดเลือก อสม. 668 คนเข้าอบรมในหลักสูตร 1 ปี จะคัดเลือกจากตัวแทน อสม.ในพื้นที่ และเป็นคนดีมาอบรม มาตรการนี้จะสามารถกระจายบริการสาธารณสุขให้เข้าถึงทุกพื้นที่ ซึ่งผลจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการจัดบริการเชิงรุกเพื่อสร้างสุขภาพเช่นอนามัยแม่และเด็ก และการควบคุมป้องกันโรคเช่น โรคเท้าช้าง วัณโรค มีขีดจำกัดมาก สถานีอนามัยบางแห่งอยู่ไม่ได้ ประชาชนขาดที่พึ่งเมื่อเจ็บป่วย เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขตระหนักและเป็นห่วงมาก จึงต้องใช้มาตรการหลายทางที่จะหยิบยื่นการบริการให้ประชาชนที่ยังขาดอยู่ นายแพทย์มงคล กล่าว


   
   


View 7    15/02/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ