สาธารณสุข ทุ่มงบ 100 ล้านพัฒนาสุขภาพพระ-สามเณรทั่วประเทศ กว่า 300,000 รูป และผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมฟรี 61 ข้อ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี พร้อมยกมาตรฐานสุขา โรงครัว สะอาดเอี่ยม เผยผลสำรวจล่าสุด พระสงฆ์ 1 ใน 7 มีโรคประจำตัว อีกร้อยละ 13 อยู่ในภาวะเสี่ยงเป็นโรค ประชาชนสามารถร่วมสมทบทุนบริจาคร่วมโครงการได้ วันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สมภพ พันธุโฆษิต รองอธิบดีกรมการแพทย์ และแพทย์หญิงวราภรณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ แถลงข่าว การจัดงาน “มหกรรมสุขภาพพระสงฆ์ – สามเณรเฉลิมพระเกียรติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ในปี 2550 นี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลสงฆ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการรักษาพยาบาลเฉพาะพระภิกษุ-สามเณรแห่งเดียวในโลก จัดโครงการมหากุศล โดยจัดบริการตรวจสุขภาพพระภิกษุ-สามเณรในวัดทั่วประเทศซึ่งมีทั้งหมด 34,000 แห่ง มีพระสงฆ์ – สามเณรรวม 334,000 รูปฟรี รวมทั้งจัดโครงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเสื่อมระยะสุดท้าย จำนวน 61 ข้อฟรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยแบ่งโครงการออกเป็น 3 ระยะ เป็นเวลา 2 ปี ระหว่างพ.ศ.2549-2550 ระยะที่ 1 ดำเนินการในเขตกทม. จำนวน 28 แห่ง จำนวน 1,000 รูป กลางปี 2549 ช่วงที่ 2 ดำเนินในวัดกทม.และปริมณฑลจำนวน 405 แห่งจำนวน 18,000 รูป ในปลายปี 2549 และระยะที่ 3 ดำเนินการในวัดทั่วประเทศในปี2550 โดยจะจัดมหกรรมสุขภาพพระสงฆ์-สามเณรเฉลิมพระเกียรติครั้งใหญ่ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 ที่โรงพยาบาลสงฆ์ ถนนศรีอยุธยา กทม. นายแพทย์มงคลกล่าวว่า จากการสำรวจ โดยการตรวจสุขภาพพระสงฆ์ – สามเณรในเขตกรุงเทพฯ เพื่อคัดกรองโรคต่างๆ ในรอบแรก 28 วัด จำนวน 1,000 รูป พบกว่าร้อยละ 90 ของพระสงฆ์ – สามเณร ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพ มีปัญหาในช่องปาก ได้แก่ ฟันผุ รองลงมาร้อยละ 15 ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปวดเมื่อย ปวดหลัง โรคข้อเข่าอักเสบ มีพระอีกร้อยละ 13 อยู่ในภาวะเสี่ยงเป็นโรคต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผลการสำรวจสุขภาพพระเมื่อพ.ศ.2543 พบว่าร้อยละ 49 มีปัญหาสุขภาพ โดยมีพระสงฆ์-สามเณรอาพาธจนไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ร้อยละ 6 ต้องนอนโรงพยาบาลร้อยละ 1 นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้สำรวจสภาพแวดล้อมของวัดที่จะส่งผลกระทบถึงสุขภาพของพระสงฆ์ – สามเณรที่จำพรรษาด้วย หากมีการพัฒนาห้องสุขาให้สะอาด ปราศจากกลิ่น โดยส้วมส่วนใหญ่ใช้ชนิดนั่งยอง ควรจะมีส้วมชนิดโถนั่งสำหรับพระผู้สูงอายุด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่จะมีปัญหาข้อเข่าเสื่อมและระบบกล้ามเนื้อ ให้มีการแยกขยะมูลฝอย สนับสนุนให้โรงครัววัดมีตู้เก็บจาน ช้อนอย่างมิดชิด มีบ่อดักไขมัน เศษอาหาร เนื่องจากที่วัดมักจะเป็นสถานที่ประกอบกิจต่างๆ ทั้งการบำเพ็ญกุศลศพ งานบุญต่างๆ เป็นศูนย์รวมชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มาร่วมงานบุญส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หากมีโรงครัว ภาชนะใส่อาหาร และสุขาที่สะอาด ก็จะเอื้อต่อการสงเสริมสุขภาพและลดการแพร่โรคได้ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า โครงการเฉลิมพระเกียรตินี้ จะใช้งบประมาณทั้งหมด 100 ล้านบาท โดยใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลสงฆ์ ในปี 2549 จำนวน 20 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 20 ล้านบาท และอีก 60 ล้านบาทจะเปิดรับบริจาคจากประชาชน ประชาชนที่สนใจสามารถสมทบทุนบริจาคได้ที่โรงพยาบาลสงฆ์ เบอร์โทรศัพท์ 0-2640-9537 ต่อ 1308 หรือบริจาคผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาย่อยกระทรวงสาธารณสุข บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 142-0-03371-9 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาย่อยกระทรวงสาธารณสุข บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 340-2-13732-0 ชื่อบัญชี กองทุนโครงการพัฒนาสุขภาพพระสงฆ์ – สามเณร ให้ยั่งยืนแบบองค์รวม ทั้งนี้จากการดำเนินงานโครงการตั้งแต่ปี 2549 โรงพยาบาลสงฆ์ได้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าไปแล้วจำนวน 24 ข้อ ส่วนใหญ่เป็นพระภิกษุอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งแต่ละข้อมีค่าใช้จ่ายข้อละ 80,000 บาท สำหรับในปี 2550 ตั้งเป้าผ่าตัด 61 ข้อ หากตรวจพบพระสงฆ์อาพาธเป็นข้อเข่าเสื่อม เดินไม่ได้ และไม่สามารถรักษาด้วยยาได้ จะดำเนินการผ่าตัดเปลี่ยนใส่ข้อเข่าเทียมให้พระสงฆ์ทุกรูปโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ด้านนายแพทย์สมภพ พันธุโฆษิต รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การบริการสุขภาพพระที่ผ่านมา เป็นการตั้งรับเป็นส่วนใหญ่ คือรักษาพยาบาลพระภิกษุที่อาพาธแล้ว ในปี 2549 มีพระเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ 68,000 กว่าราย กว่าร้อยละ 80 มาจากต่างจังหวัด ใช้ค่ารักษา 150 ล้านกว่าบาท ซึ่งมาจากเงินบริจาคเกือบทั้งหมด โรคที่พบมากที่สุดได้แก่ปัญหาสายตา อาทิตาต้อกระจก ต้อหิน สายตาเลือนลาง รองลงมาได้แก่โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ โรคปอด และโรคในช่องปากเช่นฟันผุ เหงือกอักเสบ รากฟันผุ จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการ โดยค้นหาพระที่อาพาธแล้ว และพระที่ยังไม่มีแสดงอาการความผิดปกติ เพื่อควบคุม ป้องกันไม่ให้อาการกำเริบรุนแรง และพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในวัดให้สะอาด ซึ่งจะลดการป่วยและเสียชีวิตได้ สำหรับการจัดงานมหกรรมสุขภาพพระสงฆ์ – สามเณรเฉลิมพระเกียรติ จะจัดในวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 ณ ห้องประชุมฉลากกินแบ่งรัฐบาล ชั้น 9 ตึกกัลยาณิวัฒนา โรงพยาบาลสงฆ์ โดยพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเวลา 14.00 น. ภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการพัฒนาสุขภาพพระสงฆ์ – สามเณร แบบองค์รวม อาทิ โรคข้อเข่าเสื่อม โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคทางเดินปัสสาวะ ทันตกรรม เป็นต้น การจัดนิทรรศการความรู้เรื่องโรคภัยอื่นๆ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก ซึ่งนกธรรมชาติมักจะไปอาศัยที่วัดด้วย รวมถึงซากสัตว์ปีกที่ชาวบ้านเอาไปทิ้งที่วัด การดูแลความสะอาดวัด การตรวจสุขภาพพระสงฆ์ และในคืนวันที่ 26 มีนาคม 2550 จะมีการถ่ายทอดสดรายการรับบริจาคเงินสมทบทุนโครงการ ฯ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่เวลา 22.30 – 24.00 น.จึงขอเชิญประชาชนที่มีความห่วงใยในสุขภาพพระสงฆ์ – สามเณร ติดตามรับชมรายการถ่ายทอดสดและร่วมบริจาคเงินทมทบทุนโครงการฯเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กุมภาพันธ์5/4-5 ***************** 19 กุมภาพันธ์ 2550


   
   


View 12    19/02/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ