กระทรวงสาธารณสุขใน 10 ประเทศกลุ่มอาเซียนและจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เร่งสร้างเครือข่ายฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนาม เพิ่มความเข้มแข็งการควบคุมป้องกันโรคระบาดไม่ให้ลุกลามในประเทศและภูมิภาค พร้อมรับการเป็นสังคมอาเซียนภายในปี 2558 ขณะนี้ทั้งภูมิภาคมีนักระบาดวิทยาน้อยมากเพียง 700-800 คน ตามเกณฑ์ควรจะต้องมี 2,500 คน  

        บ่ายวันนี้ (24 มกราคม 2554) ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สีลม กทม. นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมผู้บริหารระดับกอง/กรม และผู้อำนวยการโครงการฝึกอบรมระบาดวิทยาภาคสนาม จากกระทรวงสาธารณสุขในกลุ่ม 13 ประเทศอาเซียน บวก 3 ประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนร์ม่าร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การอนามัยโลก ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (US CDC)มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation)รวมทั้งหมด 60 คนเพื่อสร้างเครือข่ายด้านการฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนาม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้กรอบข้อตกลงอาเซียน ในการควบคุมป้องกันโรคระบาดที่เกิดขึ้นในภูมิภาคไม่ให้ลุกลาม ก่อผลเสียต่อสุขภาพอนามัยและผลกระทบด้านอื่น ๆ

                 

                 

          นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า อาเซียนจัดเป็นภูมิภาคใหญ่ มีประชากรรวมกันประมาณ 2,500 ล้านคนหรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก ซึ่งในปี 2558 หรืออีก 4 ปี มติของผู้นำอาเซียน ได้ตั้งเป้าหมายให้อาเซียนก้าวสู่การเป็นสังคมอาเซียน (ASEAN Community 2015) ซึ่งจะประกอบด้วย 3 เสาหลักคือ ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม-วัฒนธรรม โดยในส่วนของด้านสาธารณสุขนั้นจัดอยู่ในด้านสังคม ในที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวก 3 ครั้งล่าสุดที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 ได้มีแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนให้มีการสร้างเครือข่ายในการผลิตนักระบาดวิทยาภาคสนามของภูมิภาคเพื่อควบคุมป้องกันโรคติดต่อไม่ให้แพร่ระบาดลุกลาม โดยในช่วง 10 ปีมานี้ มีโรคระบาดสำคัญๆ เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียนหลายโรค เช่น โรคซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ การระบาดของนิปาห์ไวรัสที่ประเทศมาเลเซีย การระบาดของโรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออีโคไล 0157 (E coli 0157) ที่ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบกับทุกประเทศในภูมิภาค
                 
ขณะนี้มี 11 ประเทศที่มีหลักสูตรฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนาม ยกเว้น 2 ประเทศยังไม่มีคือพม่า และบรูไน โดยมีนักระบาดวิทยาภาคสนามน้อยมากประมาณ 700-800 คน ในจำนวนนี้ผ่านการอบรมจากประเทศไทย 190 คน ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานควรมีนักระบาดวิทยา 1 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ดังนั้นในภูมิภาคอาเซียนควรจะต้องมีนักระบาดวิทยา 2,500 คน จึงจำเป็นต้องเร่งผลิตและพัฒนานักระบาดวิทยาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน

 นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ประเทศไทย มีโครงการผลิตนักระบาดวิทยาภาคสนามเป็นประเทศแรกในภูมิภาคตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา และไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตนักระบาดวิทยาภาคสนามให้กับประเทศในลุ่มน้ำโขง ที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนได้มอบหมายให้ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนในการผลักดันให้เกิดเครือข่ายด้านการอบรมระบาดวิทยาภาคสนามในภูมิภาคอาเซียนบวก 3 ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเสริมสร้างจุดแข็งของแต่ละประเทศร่วมกัน ในการผลิตนักระบาดวิทยาภาคสนามหลักสูตร 2 ปี ในแต่ละประเทศให้มีจำนวนมากขึ้น เพิ่มความเข้มแข็งระบบการควบคุมป้องกันโรคในแต่ละประเทศ และเป็นเครือข่ายควบคุมโรคในภูมิภาคให้สงบโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสีย ทั้งการเจ็บป่วยและด้านเศรษฐกิจลงได้

          ด้านนายแพทย์ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมจะร่วมกันพิจารณาร่างข้อตกลงความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายด้านการฝึกอบรมระบาดวิทยาภาคสนามซึ่งจะมีแนวทางการปฏิบัติ วัตถุประสงค์ และกระบวนการทำงาน ให้แต่ละประเทศนำกลับไปเสนอปลัดกระทรวงสาธารณสุขพิจารณา ก่อนจัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 13 ประเทศในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขที่จะจัดขึ้นประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2554 ที่ประเทศพม่า จากนั้นจะมีการตั้งคณะผู้แทนดำเนินงานแต่ละประเทศในการบริหารขัดการเครือข่าย ตามแนวทางข้อตกลง โดยไทยจะเป็นผู้ประสานการดำเนินงานในปีแรก และรายงานผลความคืบหน้าการดำเนินงานในที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาเซียนบวก 3 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมในปี 2555
  ******************************    24 มกราคม 2554
 
 


   
   


View 2       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ