สธ. สอบสวนโรคกรณี เด็กนักเรียนระยอง 2 แห่ง ป่วยเป็นอุจจาระร่วงหลังร่วมงานกีฬาสี ส่วนใหญ่อาการป่วยไม่รุนแรง
- สำนักสารนิเทศ
- 729 View
- อ่านต่อ
สาธารณสุข เผยผลการตรวจจับโรคในกลุ่มต่างด้าวตามแนวชายแดนไทยพม่า ลาว กัมพูชา พบ 3 โรคที่ต่างด้าวป่วยมากที่สุด ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน มาลาเรีย และโรคหัด ในปีที่ผ่านมามีรายงานป่วยกว่า 10,000 ราย หวั่นแพร่ระบาดสู่คนไทย เน้น 4 มาตรการคุมเข้ม กำชับให้จังหวัดตามแนวชายแดน จังหวัดที่มีท่าเรือประมงที่มีแรงงานต่างด้าวมาก เฝ้าระวังใกล้ชิด เข้มความสะอาดห้องน้ำห้องส้วม ตลาดสดในพื้นที่ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครอบคลุมในเด็กไทย และติวการตรวจวินิจฉัยโรคมาลาเรีย เพื่อรักษาทันท่วงที
ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาใช้แรงงานในประเทศไทย ว่า ขณะนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและกระจายไปทุกจังหวัด ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน ล่าสุดในเดือนมีนาคม 2553 มีกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ไม่ผ่านระบบการตรวจสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข หากระบบการควบคุมป้องกันโรคไม่ดีพอ ต่างด้าวอาจนำโรคมาแพร่สู่คนไทยได้ง่ายขึ้น โดยสำนักระบาดวิทยา ได้รายงานผลการเฝ้าระวังโรคติดต่อในกลุ่มต่างด้าว โดยเฉพาะในศูนย์พักพิงชั่วคราวชายแดนไทย-พม่า และแนวชายแดนไทย-ลาว-กัมพูชา พบว่าโรคที่เป็นปัญหาในกลุ่มคนต่างด้าว 3 โรคสำคัญอันดับแรก ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคมาลาเรีย และโรคหัด ในปีที่ผ่านมาพบมีรายงานผู้ป่วยรวมกว่า 10,000 ราย โรคดังกล่าวเป็นโรคที่ติดต่อจากคนสู่คนได้ง่าย
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์โรคที่เกิดในต่างด้าว พบว่ามีความสอดคล้องกับการเกิดโรคในประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน จะเกี่ยวพันกับการพบโรคอหิวาตกโรคในจังหวัดชายฝั่งหลายแห่งในปี 2552 และระบาดต่อเนื่องจนถึงปี 2553 ใน 43 จังหวัด ในการป้องกันควบคุมโรคไม่ให้ส่งผลกระทบจากแรงงานต่างด้าว มี 4 มาตรการ ประการแรก ต้องขอความร่วมมือนายจ้างไทยที่จ้างแรงงานต่างด้าว ให้พาแรงงานไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อค้นหาโรคติดต่อ ซึ่งเชื้ออาจยังไม่แสดงอาการเจ็บป่วยให้เห็นก็ได้ เช่น โรคเท้าช้าง วัณโรค หากพบว่าติดเชื้อก็จะได้รับการรักษาให้หายขาด ประการที่ 2 ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขในจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดนทั้งหมด เฝ้าระวังสถานการณ์อุจจาระร่วงอย่างเฉียบพลันอย่างใกล้ชิด หากพบแนวโน้มสูงขึ้น ให้ส่งเชื้อตรวจวิเคราะห์ เพื่อตรวจจับเชื้ออหิวาตกโรคและควบคุมให้ได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นท่าเรือประมง มีแรงงานต่างด้าวมาก ต้องเน้นความสะอาดห้องน้ำห้องส้วม ตลาดสด ตรวจระดับคลอรีนคงค้างในน้ำประปาให้ได้มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้บางพื้นที่กำลังเผชิญปัญหาภัยแล้ง และกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งโรคมีโอกาสแพร่ระบาดได้ง่าย นอกจากนี้ให้ทุกจังหวัดโดยเฉพาะเด็กที่อยู่ตามแนวชายแดน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดในเด็กไทยอายุ 9 เดือน-12 ปี และเด็กต่างด้าวทุกคนให้ครอบคลุมมากที่สุด สำหรับจังหวัดที่ไม่มีโรคมาลาเรียเป็นโรคประจำถิ่น แต่มีแรงงานต่างด้าวในพื้นที่มาก ได้ให้ติวเข้มบุคลากรทางการแพทย์ ในการตรวจวินิจฉัยโรคมาลาเรีย เพื่อให้การรักษา ควบคุมโรคไม่ให้กระจายต่อในจังหวัด
ด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปี 2552 มีรายงานโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันตามแนวชายแดนไทย-พม่า เดือนละ 300-800 รายหรือประมาณ 7,000 ราย ส่วนด้านชายแดนไทย-ลาว-กัมพูชา มีรายงานพบโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ตั้งแต่มกราคม 2552 – พฤษภาคม 2553 จำนวน 2,361 ราย ซึ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2552 พบการระบาดของอหิวาตกโรคในลูกเรือประมงที่จังหวัดปัตตานี จำนวนกว่า 300 ราย และระบาดต่อเนื่องจนถึงปี 2553 เข้ามาสู่กลุ่มคนไทยถึง 43 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจำนวนลูกเรือประมงชาวต่างด้าวอยู่เป็นจำนวนมากทั้งภาคใต้และตะวันออก โดยมีผู้ป่วยอหิวาตกโรคทั้งหมด 1,959 ราย เป็นไทย 1,628 ราย พม่า 226 ราย และกัมพูชา 101 ราย ส่วนโรคมาลาเรีย ในเดือนมกราคม 2552 – เมษายน 2553 พบผู้ป่วยที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า 100-500 ราย ขณะที่ปี 2553 มีผู้ป่วยมาลาเรียในประเทศไทยทั้งสิ้น 24,906 ราย จาก 73 จังหวัด จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดได้แก่ ตาก ระนอง ชุมพร พังงา และแม่ฮ่องสอน
สำหรับโรคหัด พบผู้ป่วยตามแนวชายแดนไทย-พม่าในปี 2552 จำนวน 137 ราย ขณะที่ตลอดปี 2553 มีรายงานผู้ป่วยโรคหัดในประเทศทั้งหมด 2,271 ราย ใน 75 จังหวัด โดย 5 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดได้แก่ ตาก ปราจีนบุรี ปัตตานี ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดน และพื้นที่ติดชายทะเล นายแพทย์มานิตกล่าว
**************************************** 20 กุมภาพันธ์ 2554