วันนี้ (21กุมภาพันธ์ 2554) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กทม. นายจุรินทร์   ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบ 2 เรื่อง ดังนี้เรื่องที่ 1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามแผน 5 ปี พ.ศ.2555-2559 โดยแผนดังกล่าวได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกระทรวงสาธารณสุข สภาวิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชนและศูนย์ราชการต่างๆทั้ง ภายในและภายนอกองค์กร หลักการสำคัญคือจะมุ่งหน้าทำให้ทุกคน ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองด้านหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ
โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ 5 ข้อ ได้แก่1.ยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกและมาตรการคุ้มครองด้านสุขภาพสำหรับประชาชนทุกคน 2.ยุทธศาสตร์ในการพัฒนากระบวนการร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และปราศจากช่องว่างกับองค์กรด้านสุขภาพ ภาคีเครือข่ายต่างๆ 3.ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งระบบบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะระบบบริการปฐมภูมิที่เหมาะสมในทุกมิติและสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ 4.ยุทธศาสตร์ในการหนุนและเสริมระบบประกันสุขภาพทุกระบบของประเทศ ให้เกิดการบริการที่เชื่อมโยงสอดคล้องและกลมกลืน มีหลักประกันด้านสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่ชัดเจน 5.ยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างและพัฒนาธรรมมาภิบาล การบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
เรื่องที่ 2.การเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.โครงการผ่าตัดปลูกถ่ายตับในเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากท่อน้ำดีตีบตันตั้งแต่กำเนิด จนก่อให้เกิดภาวะตับวายในที่สุด ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาคือการผ่าตัดเปลี่ยนตับ ซึ่งมีโอกาสหายสูงร้อยละ 95 หากไม่เปลี่ยนตับจะเสียชีวิตภายใน 2 ปี  
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ทำการปลูกถ่ายตับได้แล้ว 4 แห่ง ได้แก่ รพ.จุฬาฯทำการผ่าตัดผู้ป่วยตั้งแต่พ.ศ.2537-2553 จำนวน 43 ราย รพ.รามาธิบดี 36 ราย รพ.มหาราชเชียงใหม่ 9 ราย และรพ.ศิริราช 4 ราย อย่างไรก็ตาม แต่ละปีจะมีผู้ป่วยจากโรคท่อน้ำดีตีบตันตั้งแต่กำเนิดประมาณ 60-80 ราย ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเปลี่ยนตับ เฉลี่ยประมาณ 1 ล้านบาทต่อคน และมีค่ายาที่ต้องดูแลอีกประมาณ 1.4 แสนบาทต่อคนต่อปี เริ่ม 1 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยลดการป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ลงได้ คาดว่าใช้งบประมาณ ปีละไม่เกิน 50 ล้านบาท
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ 2. ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบเพิ่มรายการยา คือยา ออกทรีโอไทด์ สเตอร์ไรท์ โซลูชั่น (Octreotide Sterile Solution )สำหรับโครงการรักษาฟรี 48 ล้านคนด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เป็นยารักษาโรคกระเพาะตัวใหม่ที่มีการศึกษาความคุ้มค่า คุ้มทุนในด้านราคาและประสิทธิภาพ ออกฤทธิ์รักษายาวนานกว่าตัวเดิมคือยาโซมาโตสเตติน อาซิเตท ( Somatostatin acetate)   โดยมีผลบังคับใช้ในวันถัดไปจากวันที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติเห็นชอบตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 **********************************************  21 กุมภาพันธ์ 2554


   
   


View 9       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ