ทั้งที่อยู่ในไทยและญี่ปุ่นไว้แล้ว มีวอร์รูมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
วันนี้ (15 มีนาคม 2554) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีแผ่นดินไหวแล้วเกิดสึนามิ ที่ประเทศญี่ปุ่น ว่า วันนี้ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าคณะทำงานทั้งในส่วนของการทำหน้าที่เฝ้าระวังอุบัติภัยหรือผลกระทบต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในประเทศไทย
นายจุรินทร์กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนกังวลและตื่นตระหนก เนื่องจากทุกหน่วยงานพูดตรงกันว่า ประเทศไทยยังไม่น่าได้รับผลกระทบอะไรจากสึนามิที่มาจากญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามมีอีกประเด็นหนึ่งคือการประสานกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเข้าไปช่วยเหลือที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมแพทย์เข้าไปแล้ว 1 ทีม ประกอบด้วยแพทย์ 2 คน พยาบาล 1 คน ซึ่งแพทย์ทั้ง 2 คนนี้จบจากประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นจึงสามารถไปช่วยดูแลประสานงานประเทศญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี
ได้รับรายงานล่าสุด ขณะนี้ทีมแพทย์ไทยเดินทางไปถึงประเทศญี่ปุ่นแล้ว และจะเดินทางเข้าไปที่วัดปากน้ำ เมืองชิบะทันที เพื่อไปช่วยดูแลคนไทยที่มีประมาณ 300 คนในเบื้องต้น ซึ่งขณะนี้ได้ไปรวมตัวกันอยู่ที่วัดดังกล่าว และหากจะช่วยดูแลคนญี่ปุ่นได้บ้างก็ยินดีที่จะดำเนินการให้ เพราะแพทย์ทั้ง 2 ท่านและพยาบาล พูดญี่ปุ่นได้ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมทีมแพทย์สำรองไว้อีก 21 ทีม ประกอบด้วยทีมแพทย์ฉุกเฉิน 18 ทีม และทีมแพทย์สุขภาพจิตอีก 3 ทีม หากได้รับการร้องขอจากกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมจะเดินไปญี่ปุ่นทันที
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนในเรื่องของอาหารที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นวันนี้ก็จะได้มีการหารือกัน แต่ที่สำคัญก็คือต้องมีการตรวจสอบในเรื่องของคุณภาพ และอาจดูในเรื่องของเกณฑ์กัมมันตรังสีด้วย ว่ามีการปนเปื้อน หรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เราดูว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง เช่น มาจากแหล่งผลิตที่ขณะนี้มีปัญหาในเรื่องของกัมมันตรังสี แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นการดำเนินการเพื่อเป็นการซ้ำเติมญี่ปุ่น เราเห็นใจญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง เพียงแต่ว่าในภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ต้องดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ในเรื่องสุขภาพอนามัยเราต้องเข้ามาดูในเรื่องนี้เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อไป
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขผลกระทบจากสึนามิประเทศญี่ปุ่น ที่ห้องประชุม 2 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ศูนย์ดังกล่าวจะติดตามประเมินสถานการณ์ผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติจากญี่ปุ่นใกล้ชิด และออกมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที รวมทั้งเป็นศูนย์ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตอบข้อสงสัยประชาชนทางหมายเลข 0 2590 1993-4
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือการรักษาพยาบาลทั้งสุขภาพกายและจิตของผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ โดยเฉพาะคนไทยที่อยู่ในญี่ปุ่น ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อประเมินสถานการณ์รวมทั้งความพร้อมของประเทศญี่ปุ่นที่จะเปิดให้ทีมแพทย์จากต่างประเทศเข้าไปช่วย ซึ่งในเบื้องต้นได้เตรียมทีมแพทย์ไว้ 21 ทีม ทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต พร้อมเดินทางภายใน 72 ชั่วโมงภายหลังได้รับการประสาน
ส่วนที่ 2 คือ มาตรการเตรียมรับมือการรั่วไหลสารกัมมันตภาพรังสี จากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะระเบิด แม้ว่าขณะนี้รายงานจะยังไม่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทยก็ตาม แต่จะต้องวางมาตรการให้พร้อมไว้ เพื่อดูแลความปลอดภัยประชาชนไทย ให้เกิดความมั่นใจ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนดำเนินการ 3 กิจกรรมใหญ่ ๆ ได้แก่ 1.มาตรการเฝ้าระวังผลกระทบซึ่งจะดำเนินการในคน อาหาร และสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ และอากาศ 2.การสื่อสารความเสี่ยงให้กับประชาชนในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันผลกระทบ ซึ่งจะมี 3 กลุ่ม ได้แก่ คนไทยที่อยู่ในญี่ปุ่น คนไทยที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่น และคนไทยที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น ซึ่งรวมทั้งการให้คำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชนทั่วไป ที่อาจมีความวิตกกังวลหรือตื่นตระหนก จากการได้รับข่าวสารต่างๆที่เกิดขึ้น ที่สถานบริการสาธารณสุขต่างๆ และ3.การเตรียมความพร้อมในด้านการดูแลรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสี
********************************** 15 มีนาคม 2554