องค์การยูนิเซฟ หนุนงบประมาณเกือบ 40 ล้านบาท ให้กระทรวงสาธารณสุขไทยดำเนินงานด้านสุขศึกษาป้องกันโรคไข้หวัดนกในชุมชน-โรงเรียน ให้ชุมชนปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนกอย่างยั่งยืน โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และเสริมทักษะด้านสุขภาพ นำร่อง 6 จังหวัด พบได้ผลดี มั่นใจไทยจะไร้ผู้ติดเชื้อในปีนี้ วันนี้(28 กุมภาพันธ์ 2550)ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วยฯพณฯจุน ยามาดะ อัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายโทโมโอะ โฮซูมิ ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี แถลงข่าวโครงการสุขศึกษาสร้างพฤติกรรมการป้องกันโรคไข้หวัดนกในโรงเรียนและชุมชน ให้ชุมชนปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนกอย่างยั่งยืน นายแพทย์ศุภชัย กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับการชื่นชมจากนานาชาติด้านความเข้มแข็งของมาตรการและการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก แต่เราไม่สามารถวางใจได้หากกลุ่มเสี่ยงคือกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ปีก เกษตรกร ผู้ชำแหละ หรือผู้สัมผัส ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไป ยังขาดความความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพและพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งการติดเชื้อไข้หวัดนกใน 3 ระลอก 100 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากพฤติกรรมการสัมผัสสัตว์ปีกติดเชื้อ ดังนั้นกลยุทธ์ที่จะต้องเร่งสร้างต่อไปในการป้องกันโรคไข้หวัดนกก็คือการให้สุขศึกษา ซึ่งประกอบด้วยความรู้และการปรับพฤติกรรมสุขภาพ โดยในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การ ยูนิเซฟ ประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงิน 38.4 ล้านบาท และได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิควิชาการจากกระทรวงศึกษาธิการ กรมปศุสัตว์ และองค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สำหรับงบประมาณที่ได้รับจากองค์การยูนิเซฟในครั้งนี้ ได้จัดทำ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการดำเนินงานสุขศึกษาในการป้องกันโรคไข้หวัดนกในภาวะวิกฤติ จำนวน 20 ล้านบาทดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 – กุมภาพันธ์ 2550 และโครงการดำเนินงานสุขศึกษาในการป้องกันโรคไข้หวัดนก จำนวน 18.4 ล้านบาท ดำเนินงานในช่วงเดือน มกราคม – มิถุนายน 2550 มาตรการการสร้างความรู้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของ ประชาชนกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มความเข้มข้นนี้ มั่นใจว่าไทยจะไม่มีผู้ติดเชื้อโรคไข้หวัดนกในปี 2550 นี้ นายแพทย์ศุภชัย กล่าวต่อไปว่า ตามโครงการดังกล่าว นำร่องในพื้นที่เสี่ยง 6 จังหวัด ได้แก่ นครพนม อุดรธานี นครนายก อุทัยธานี กาญจนบุรี และพังงา โดยให้กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดำเนินการร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดอบรมกลุ่มแกนนำชุมชนได้แก่อสม. อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำชมรมสร้าง สุขภาพในชุมชน และอบรมดีเจวิทยุชุมชนทั่วประเทศกว่า 1,200 คน สร้างการมีส่วนร่วมในลักษณะการร่วมมือกันเป็นเครือข่าย แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ เน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อการมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคไข้หวัดนก จัดทำสื่อการป้องกันโรคของชุมชนเอง ส่วนที่ 2 ดำเนินการในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้เป็นเครือข่ายแกนนำเยาวชนป้องกันโรคไข้หวัดนก (Bird – Flu Buster : BFB) เนื่องจากเยาวชนเป็นขุมพลังที่มีความพร้อม เป็นแกนนำในการช่วยเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร สามารถเฝ้าระวังคนในครอบครัว เพื่อน คนในชุมชนให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง โดยในปีนี้ได้อบรมเครือข่ายเยาวชนใน 93 โรงเรียน มีเยาวชนเข้าอบรม 1,300 คน การอบรมใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม จัดกิจกรรมเสริมทักษะในการดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัว และชุมชน เยาวชนที่ผ่านการอบรมทุกคน จะได้รับใบประกาศเกียรติคุณ คู่มือการรณรงค์และป้องกันโรคไข้หวัดนก และสมุดบันทึกช่วยในการทำงานด้วย นายแพทย์ศุภชัย กล่าวในตอนท้ายว่า จากการประเมินกลุ่มประชาชนและเยาวชนที่เข้ารับการอบรม พบว่า ในกลุ่มของประชาชนทั่วไป มีความรู้เรื่องเรื่องโรคไข้หวัดนกอยู่ในเกณฑ์ดี เพิ่มจากร้อยละ 45 ในปี 2549 เพิ่มเป็นร้อยละ 65 ส่วนนักเรียนมีความรู้เรื่องการป้องกันโรคไข้หวัดนกมีคะแนนเฉลี่ยที่ 8.5 จากคะแนนเต็ม 10 และผู้เข้ารับการอบรมกว่าร้อยละ 85 มีความพอใจในระดับมากของความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งการป้องกันโรคไข้หวัดนกจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันการระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต กุมภาพันธ์7/8-9 ************************** 28 กุมภาพันธ์ 2550


   
   


View 7    28/02/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ